ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
 

 

 

 

 

มัสยิดโบราณบาโงยลางา (มัสยิดนัจมุดดีน)
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

มัสยิดนัจมุดดีน (มัสยิดโบราณ 300 ปี)

ที่อยู่ : หมู่ที่ 4 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี 94120

ผู้รับผิดชอบ : นายมูฮำหมัด บาเหมบูงา, นายดลฮาพ สาหลำสุหรี

กิจกรรมที่ดำเนินการ : มัสยิดโบราณบาโงยลางา (มัสยิดนัจมุดดีน) เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม มีการก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย และสถาปัตยกรรมของมุสลิม ซึ่งทำให้สุเหร่าแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับศาลาการเปรียญของไทย 

สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 2177 (ค.ศ.1634) ในรัชสมัยของราชินีราตูอูงู บิน สุลต่านมันซูร ซาห์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชอาณาจักรปาตานี ดารุสสลาม ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2167-2178 ซึ่งในสมัยของราชินีราตูอูงูนั้น ได้เกิดสงครามขึ้นระหว่างเมืองปาตานี ดารุสสลามกับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นพระเจ้าประสาททองได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตี ปาตานีดารุสสลาม เกิดสงครามยืดเยื้อเป็นเวลาแรมปี สงครามครั้งนี้เองจึงเป็นที่มาของวีรกรรมอันกล้าหาญของโต๊ะหยางหญิงแห่งบ้าน บาโงยลางา (คำว่า บาโงย เป็นภาษามลายู หมายถึง ควนหรือเนิน ส่วนคำว่า ลางา แปลว่า การปะทะ สถานที่แห่งนี้คือส่วนหนึ่งของสมรภูมิสงครามในครั้งนั้น) โต๊ะหยางหญิงเป็นผู้เก็บพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในช่วงสงคราม ซึ่งขณะกำลังหนีภัยสงครามนั้นโต๊ะหยางหญิงได้ตกลงไปในหุบเหวเป็นเวลาหลายวัน หลังสงครามสงบโต๊ะหยางได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านให้ขึ้นจากเหว ซึ่งทุกคนต่างตะลึงเมื่อเห็นสิ่งที่โต๊ะหยางกอดแน่นอยู่กับอกคือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเล่มหนึ่งซึ่งถูกจารึกด้วยลายมืออันสวยงามวิจิตร ปกทำจากเปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ พระมหาคัมภีร์อัลกรุอานเล่มนี้ ได้ประดิษฐานในมัสยิดแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

จากนั้นชุมชนบ้าน ทรายขาวซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาใหญ่สันกาลาคีรี ได้ร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้นหลังจากสงครามสงบลง โดยขณะนั้นชาวบ้านทั้งมุสลิมและไทยพุทธในพื้นที่ ได้ร่วมแรงร่วมใจ ในการก่อสร้างสร้างมัสยิดไม้โบราณหลังนี้ โดยไม้ที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง คือไม้แคและไม้ตะเคียนทั้งต้น ซึ่งชาวบ้านตัดมาจากป่าในเทือกเขาสันกาลาคีรี และใช้หวายมัดเป็นเชือกลากลงจากภูเขา จากนั้นก็จะใช้ขวานถากเสาให้เป็นสี่เหลี่ยม ส่วนกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคา ทำมาจากอิฐแดง ต้นกำเนิดมาจากจากหมู่บ้านตาระบาตอ ต.กะมิยอ. อ.เมือง จ.ปัตตานี ปัจจุบันพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับเขียนด้วยมือและเครื่องมือการก่อสร้างบางส่วนยังคงเก็บรักษาไว้รูปแบบการก่อสร้างเป็นศิลปะการก่อสร้างตามแบบศิลปกรรมที่สืบทอดมาจาก สถาปัตยกรรมลังกาสุกะถือเป็นมัสยิดร่วมสมัยกับมัสยิดตะโละมาเนาะ (วาดีอัลฮุเซน) อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และมัสยิดเอาห์ บ้านนัดตันหยง ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ศิลปะการก่อสร้างแบบมลายูชวา สร้างโดยชุมชนท้องถิ่น 

มัสยิดบาโงยลางา ทั้งหลังสร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ลิ่มไม้ นับเป็นภูมิปัญญาและความสมานสามัคคี ของชาวชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างศาสนสถาน และวัฒนธรรมสถานที่งดงามล้ำค่าทางศิลปะแบบราชอาณาจักรลังกาสุกะ นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ กลองหรือนางญา ใช้ในการตีบอกเวลาให้สมาชิกในชุมชนรู้ถึงเวลาที่จะต้องมาร่วมละหมาด นอกจากนี้ยังเป็นการเตือนภัย เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น กลองหรือนางญานี้ทำมาจากต้นไม้ขนาดใหญ่ นำมาคว้านตรงกลาง จากนั้นใช้หนังควายขึงเพื่อขึ้นหน้ากลอง สำหรับจุดเด่นของกลองนี้คือลิ้นที่ทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งอยู่ภายในตัวกลอง เมื่อมีคนมาตีกลองไม้ไผ่เหล่านี้จะสั่น ทำให้มีเสียงที่ไพเราะขึ้น และมีความดังไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ตั้งแสดงเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ดูได้ศึกษาที่มัสยิด ศาสนาอิลามที่ปัตตานีได้ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วหลังจากพญาตูนาคะพาแห่งราชอาณาจักรมลายูลังกาสุกะได้เปลี่ยนจากพุทธศาสนามาเป็นกษัตริย์มุสลิมองค์แรก ในนามสุลต่าน อิสมาอีลชาล์ แห่งราชอาณาจักรปาตานีดารุลาสลามมัสยิดโบราณปัจจุบันมีลักษณะแตกต่างจากอดีตเนื่องจากมีอายุยาวนานทำให้ลักษณะเดิมบางส่วนได้ผุพังไปบ้าง ลักษณะในอดีตมีหน้ามุขทางทิศตะวันตกและมีฐานยกสูงจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตรและมีผนังเป็นไม้ ต่อมาราว พ.ศ. 2490 ได้บูรณะเป็นผนังสังกะสี ต่อมาผุพังอีกต่อมามีการบูรณะใหม่อีกครั้งเมื่อปีพ.ศ. 2549 ในลักษณะของรั้วเพื่อกันมิให้สัตว์จำพวกไก่ สุนัขหรือสัตว์อื่นๆเข้าไปสร้างความสกปรกให้กับมัสยิดโบราณการบูรณะมัสยิดครั้งนี้ได้บูรณะพร้อมกับอาคาบาลายเซาะซึ่งติดกับอาคารมัสยิดโบราณ ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง ฟังการบรรยายและกิจกรรมอื่นอีกโดย งบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสภาพเหตุการณ์ ความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลทรายขาวไดรับความสนใจจากหลายภาคส่วนไม่ว่าส่วนราชการ เอกชนหรือแม้แต่ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็สนใจมาเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของคนในชุมชนแห่งนี้ ทำให้ชุมชนแห่งนี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชี้นำสันติสุขต่อไปและเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้คือการเป็นมิตรจิตรไมตรีกับทุกๆคนที่มาเยี่ยมเยียนจะได้รับการดูแล เอาใจใส่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ติดต่อหรือคณะที่มาเยี่ยมเยียนเป็นอย่างยิ่งสร้างความภาคภูมิใจและความเจริญให้กับคนในชุมชนแห่งนี้ 

 

 

วันเปิดทำการ :  ทุกวัน
 

 

เดินทางอย่างไร :

 

จากปัตตานีตาทางหลวงหมายเลข 42 ถึงบ้านนาเกตุเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 409 ถึงนาประดู่เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 4072 ประมาณ 5.7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางอีก 500 เมตร จะถึงมัสยิด

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com