ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

วัดสีหยัง
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

วัดสีหยัง อยู่ริมถนนทางหลวงสงขลา-นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 127 บ้านสีหยัง หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน น่าจะสร้างในสมัยศรีวิชัยประมาณ พ.ศ.2310 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วประมาณ พ.ศ.2320 เดิมมีนามว่า "วัดสีกุยัง" หนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาเรียกว่า "วัดศรีกูยัง" โดยอุโบสถและศาลาการ เปรียญเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านของสงขลา เป็นวัดที่พระราชมุนีสามีราม(หลวงพ่อทวด) เมื่อครั้งเป็นสามเณรมาศึกษาธรรมบททศชาติก่อนไปบวชที่วัดดีหลวง 

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การชม คือ

ฐานเจดีย์ ก่อด้วยอิฐดินเผาและปะการัง ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งแทนการสอปูน เรียงอิฐแบบไม่มีระบบ ซึ่งเป็นเทคนิคของช่างสมัยศรีวิชัย เดิมสันนิษฐานว่าองค์เจดีย์มีรูปทรงแบบมณฑปพระบรมธาตุไชยา ต่อมาได้หักพังลงเหลือแต่ฐานเจดีย์ ศาสนาจารย์บวชเซอลิเยร์ นักปราชญ์ทางโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 - 18)

อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนฐานสูง มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียวทางด้านหน้า รอบอุโบสถมีลานทักษิณาวัฎ มีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ขอบประตูและหน้าต่าง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปวงโค้งและเทวดาหน้าบันด้านหน้ามีลายปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศ มีบุคคลเป็นส่วนประกอบ  ตรงจั่วมีช่อฟ้าใบระกา  มีปั้นลมรูปหัวนาคแทนหางหงส์ ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่น สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 90 ปี มาแล้ว

เทวรูปสำริด เป็นเทวรูปสำริดถือรวงข้าว ชาวบ้านเล่าว่า พบขณะขุดหลุมสร้างโรงเรียนวัดสีหยัง

บริเวณวัดสีหยังจะมีคูขุดล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีความกว้างประมาณ 200 เมตร คูกว้าง 30 เมตร ปัจจุบันแนวคูได้ตื้นเขินไปมากแล้ว

เมื่อปี พ.ศ.2522 หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยัง พบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหักหายไป มีการใช้หินปะการัง ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ ส่วนต่อระหว่างฐานรากและองค์เจดีย์ที่ต่อขึ้นไปด้านหน้าฐานเจดีย์ มีฐานวิหารเหนือเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจเป็นวิหารที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาหรืออาจมีมาแต่เดิมก็ได้ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ และยังเคยพบ ประติมากรรมสำริดในบริเวณใกล้เคียง เป็นเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบ ๆ สถูปยังปรากฎคันคูดินโบราณที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย 

ภายในโบสถ์วัดสีหยัง มีรูปเหมือนหลวงพ่อทวดขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นหลวงพ่อทวดที่จัดสร้างโดยนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.ปี 5 เมื่อปี พ.ศ.2550 ด้วยแรงศรัทธาอย่างแรงกล้า โดยใช้งบประมาณในการสร้าง 300,000 บาท

หลวงพ่อทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ มีนามเดิมว่า ปู เป็นบุตรนายหู นางจัน วันเดือนปีเกิดของเด็กชายปู บ้างว่าเป็นเดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ.2125 บ้างว่าปี พ.ศ.990 ฉลู สัมฤทธิศก บ้างว่า พ.ศ.2131 โดยอนุมาน เข้าใจว่าคงเป็นปลายสมัยมหาธรรมราชา อาจเป็นปี พ.ศ.2125 หรือ 2131 ตอนเด็กชายปูยังเป็นทารก มีเรื่องเล่าเป็นปาฎิหาริย์เอาไว้ว่า หลังจากนางจันเลิกอยู่ไฟก็ออกเกี่ยวข้าวทันที วันหนึ่งนางไปเก็บข้าวก็ให้บุตรนอนเปลใต้ต้นหว้า งูบองสลาขึ้นมานอนบนเปลนั้น มารดาและบิดาเห็นงูก็ตกใจ งูก็เลื้อยหายไป แต่ได้คายแก้ววิเศษเอาไว้ให้ เมื่อเด็กชายปูอายุได้ 7 ขวบ บิดาได้นำไปฝากกับท่านสมภารจวงซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันผู้เป็นมารดา (หลวงลุง) วัดกุฎิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 10 ขวบ ก็บวชเป็นสามเณร และบิดาได้มอบแก้ววิเศษให้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ต่อมาได้เข้ารับการอุปสมบท มีฉายาว่า "ราโมธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกว่า "เจ้าสามีราม" 

 

 

วันเปิดทำการ :  ทุกวัน
 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    เลขที่ 127 บ้านสีหยัง หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

 

 

แผนที่ : 

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com