ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

วัดชะแล้
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

วัดชะแล้  ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในวัดโบราณของลุ่มน้ำทะเล สาบสงขลา เทียบเคียงวัดพะโคะ ซึ่งตามประวัติก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 1999 ทำให้มีอายุจนถึงปัจจุบัน 551 ปี นับได้ว่ามีความเก่าแก่เป็นอันดับสองรองจากวัดพะโคะ วัดชะแล้มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในตำบลให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก คือ "โบสถ์เขาตก"

โบสถ์เขาตก ท่านสมภารปาน เจ้าอาวาสวัดชะแล้ รูปที่ 5 ได้ค้นพบเมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2407 ในสมัยนั้นบริเวณเนินเขาทิศตะวันตกมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่มาก ไม่มีคนกล้าขึ้นไปเพราะเป็นเนินเขาที่เปลี่ยว กอรปกับทางด้านทิศตะวันตกของเนินเขาเป็นที่ฝังศพของมุสลิมในอดีต คนไม่กล้าขึ้นไปบนเนินนี้ ท่านเจ้าอาวาส จึงได้ชักชวนประชาชนขึ้นไปแผ้วถางตัดแต่งต้นไม้ที่ไม่จำเป็นออก เมื่อถางไปก็พบเศียรพระพุทธรูปโผล่อยู่บนดิน จึงช่วยกันขุดดินออกจึงพบพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ได้นำมาทำความสะอาดแลประดิษฐาน ไว้ ภายหลังสร้างวิหารคลุม ประชาชนจึงเรียกชื่อของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระโบสถ์ตก ต่อมามีพระภิกษุที่จำพรรษา ชื่อ ภิกษุอ้น ได้ก่อพอกปูนโอบองค์พระพุทธรูปให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้าง 4 ศอกเท่าขนาดปัจจุบัน ประชาชนโดยทั่วไปในตำบลชะแล้จะให้ความเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธรูปนี้เป็นอย่างมาก มีความเชื่อในเรื่องการบนบาน การขอให้สมหวังในสิ่งที่ต้องการ

ตำนาน คำเล่า ที่เกี่ยวกับโบราณสถานบริเวณวัดชะแล้

พระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์วัดชะแล้

พระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์วัดชะแล้ มีประวัตที่น่าจะเทียบเคียงได้กับเจดีย์ของวัดสทิงพระ วัดพะโคะ และ วัดเขียนบางแก้ว โดยเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ คาดว่าจะมีอายุประมาณ 600 ปี (คำนวณจากรูปทรงก่อสร้างและโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณเจดีย์องค์เก่า เช่น พระพุทธรูปสมัยลพบุรี ฯ) เมื่อ พ.ศ. 2512 สมัยของท่านสมภารแดงเป็นเจ้าอาวาส ได้ให้นาค (ผู้ที่รอบวชซึ่งต้องมาอยู่ที่วัด) จำนวนหนึ่งขึ้นไปถางต้นไม้บริเวณยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์ พวกนาคเหล่านั้นจึงได้ขุดคุ้ยกองอิฐซึ่งเป็นเจดีย์องค์เก่าที่พังลงมา (หรืออาจก่อสร้างไม่เสร็จ) และได้รื้อลงไปในฐานรากของกองอิฐนั้นได้พบขันใบใหญ่ที่บรรจุพระพุทธรูปทองคำ แหวน เพชรพลอยทั้งที่ได้เจียรนัยเป็นหัวแหวนแล้ว และที่เป็นเม็ดเดิม ๆ รวมไปถึงเจดีย์แก้ว 3 ส่วนที่ถอดประกอบได้และส่วนกลางได้บรรจุเศษกระดูกซึ่งเชื่อว่าเป็นธาตุพระ เมื่อเป็นข่าวกระจายออกไปในตอนเย็นวันนั้นก็มีชาวบ้านพากันขึ้นไปขุดค้นหาสมบัติที่บริเวณนั้น โดยเชื่อว่าเป็น กรุแตกตามคำที่นิยมพูดกัน แต่พวกเขาทุกคนที่ได้สิ่งของเหล่านั้นก็พากลับมาส่งคืนในวันรุ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีคนไปทวงกลับในตอนกลางคืน เรื่องการขุดพบดังกล่าวเมื่อเป็นข่าวถึงกรมศิลปากรก็ได้ดำเนินการถ่ายภาพและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และนำไปเก็บรักษาไว้ส่วนหนึ่ง (ไม่ทราบสถานที่เก็บ) ส่วนที่เหลือได้ถูกบรรจุเก็บไว้ภายในเจดีย์ใหญ่ที่ได้สร้างครอบไว้ภายหลัง (องค์ใหญ่ปัจจุบัน)


ถ้ำนางทอหูก

ถ้ำนางทอหูก อยู่เชิงเขาชั้นที่สองรองจากที่ตั้งของเจดีย์ ตามตำนานเล่าว่าเป็นถ้ำที่เก็บสมบัติไว้มากมาย มีช้างเฝ้าหน้าถ้ำ 1 เชือก และเทพธิดาเฝ้ารักษา 1 องค์ ชาวบ้านเรียกว่านางทอหูก ซึ่งเรียกชื่อจากที่มีหลายคนได้ยินเสียงการใช้เครื่องทอผ้า (ชาวบ้านแถบลุ่มน้ำเรียกว่าทอหูก) ดังมาจากบริเวณถ้ำในทุกวันพระ ในถ้ำมีสมบัติที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ก็คือ ถ้วยชาม ถาด โถ ฯ ซึ่งเมื่อต้องการใช้ในงานพิธีก็มาจุดธูปเทียนร้องขอที่หน้าถ้ำแล้วกลับมาเอาของเหล่านั้นในวันรุ่งถัดไป กล่าวกันว่า นางทอหูก เป็นผู้หญิงที่สวยและในตอนหลังก็มีสามเณรเข้าไปเพื่อปลุกปล้ำ นางทอหูกจึงต้องเดินทางไปอยู่ที่อื่น โดยได้เดินไปเวลามืดค่ำถึงที่บริเวณเกาะหนึ่งในบริเวณทะเลสาบสงขลาชาวบ้านจึงเรียกว่า เกาะนางคำ ซึ่งมาจากคำว่า นางค่ำ (คำเล่านี้สอดคล้องกับตำนานของถ้ำ สีสอน บ้านสีสอน ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ ที่มีการระบุว่าพระนางสีสอนเจ้าของถ้ำมาจากเกาะนางคำ) ส่วนสามเณรที่เข้าไปในถ้ำก็ถูกปากถ้ำปิดตัดคอขาดตาย ดังที่ปรากฏอยู่ที่หน้าถ้ำปัจจุบัน

 

 

วันเปิดทำการ : 

ทุกวัน

 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 





    ------------------------------
    ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.chalare.go.th/index.php?options=travel&mode=detail&id=527

 

 

แผนที่ : 

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com