ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
สันทนาการและการบันเทิง
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ
เส้นทางท่องเที่ยวโดยทัวร์อื่นๆ
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
โรงแรม / ที่พัก
โรงแรม รีสอร์ท และสปา
ร้านอาหาร
ร้านอาหาร
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
ศิลปะหัตถกรรม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
สถานีตำรวจ
โรงพยาบาล
บริษัททัวร์
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

ชุมชนบ้านโคกพยอม
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

ชุมชนบ้านโคกพยอม มีสมาชิก 132 ครัวเรือน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เป็นศาสนาพุทธ มีพื้นที่ทั้งหมด3,050 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและเนินสูง(โคก) ทอดตัวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ยาวประมาณ 3 กิโลเมตรจากลักษณะพื้นที่นี้เองจึงมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน แบ่งเป็นดินนาเป็นที่ราบลุ่มดินร่วนปนทรายและปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำนา และดินโคก อยู่บนที่สูงระบายน้ำได้เร็วเหมาะกับพืชไร่ ไม้ยืนต้นไม้โตเร็วเช่นยางพารา ปาล์มน้ำมัน     

ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำนา สวนยาง เลี้ยงสัตว์ ประมงชายฝั่งเล็กๆน้อย แต่จะรับจ้างตัดไม้ในป่าชายเลนเป็นอาชีพหลัก ด้วยมีรายได้แน่นอน ...ในอดีตชุมชนบ้านโคกพยอม ยังไม่ได้เป็นหมู่ 18 หากแต่เป็นชุมชนหนึ่งในหลายๆ  แห่งของหมู่ 1 ซึ่งประกอบชุมชนท่าชะมวง ชุมชนหัวหิน ชุมชนโคกพะยอม ชุมชนติงหงี ชุมชนทอนโต๊ะเล ชุมชนโคกสีออน  ชุมชนโคกงู ด้วยสภาพพื้นที่ที่กว้างขวาง การดูแล จัดสรรงบจึงไม่ทั่วถึง ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์  สวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ด้วยอยู่ห่างไกล ทำให้ชาวชุมชนได้มาร่วมคิด หาแนวทางทางในจัดการชุมชนของตนเอง  ทุนสำคัญของชุมชน          

ด้วยสภาพแวดล้อมที่โอบล้อมด้วยทะเล ฐานทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ชาวชุมชนบนแนวป่าชายเลน อย่างชุมชนบ้านโคกพะยอม ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล หาอยู่หากินนั้นคือ “ป่าชายเลน” สำหรับชาวชุมชนบ้านโคกพยอมนั้น ป่าชายเลน คือฐานที่มั่นที่ชาวบ้านอิงอาศัยอยู่กินมานาน แต่เมื่อเกิดการสัมปทานป่า ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตเดิมของชุมชนก็เปลี่ยนไป โรงงานเผาถ่านเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับอาชีพรับจ้างตัดไม้ในป่าชายเลน ตัดไม้ส่งเข้าโรงงาน เผาถ่านส่งขาย หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป ...แล้ววันหนึ่งป่าชายเลนก็หมดไป        

ในปีพ.ศ. 2544 ผืนป่าชายเลนที่เคยอุดมสมบูรณ์ ที่ชาวชุมชนเคยจับหอยจับปูก็เสื่อมสภาพลงพร้อมๆ กับการหมดสัมปทานทำไม้ในป่าชายเลน ไม่เพียงเท่านั้นกุ้งหอยปูปลาก็หายไปจากลำคลอง หมดทั้งป่า หมดทั้งแหล่งอาหาร และไม่มีอาชีพในการทำกินอีกต่อไป ปัญหาที่ถาโถมมายังชุมชนบนแนวป่าชายเลนแห่งนี้ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านได้มาร่วมคิด ร่วมทำ เรียนรู้ปัญหากันและกัน บนโจทย์สำคัญที่ว่า ชุมชนจะอยู่กันอย่างไรเมื่อฐานทรัพยากรหมดลง เกิดการปรึกษาหารือในชุมชนจนเกิดเป็นแนวคิดในการปลูกป่าทดแทน ฟื้นฟูป่า สร้างฐานทรัพยากรชุมชน     ชาวชุมชนทุกคนต่างช่วยกันเก็บเอาฝักลูกไม้มาปลูกเป็นป่าทดแทน ระดมกำลังจนเกิดการจัดงานปลูกป่าวันพ่อ มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงาน ทำให้หน่วยงานภาครัฐเห็นบทบาทความสำคัญของกิจกรรมชาวบ้าน เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้     การปลูกป่าของชุมชนนั้น ชาวชุมชนใช้วิธีการนำกล้าไม้ใหม่ ชนิดใดก็ได้ไปปลูกแซมในพื้นที่เดิมโดยไม่มีการถางเตียน  กลายเป็นวิธีการปลูกป่าทดแทนที่เห็นผล เมื่อต้นไม้โตขึ้น ชุมชนก็ได้ป่าชายเลนกลับคืนมา ป่าที่อุดมสมบูรณ์มีทั้งไม้โกงกาง ไม้แสมเหมือนเดิม      

นอกจากนี้มีการตั้งคณะกรรมการป่าชายเลนขึ้นเพื่อบริหารจัดการ และกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่า ด้วยเห็นความสำคัญของป่า ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนชุมชนในหลายหมู่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาชีพ แหล่งอาหาร สมุนไพร และเป็นที่ป้องกันภัยจากธรรมชาติ อย่างกรณีคลื่นสึนามิ       

โดยในการจัดการป่านั้น ได้จัดสรรแบ่งพื้นที่ดังนี้ แปลงป่าเฉลิมพระเกียรติ 200 ไร่ เพื่ออนุรักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ แปลงป่าเพาะเมล็ดพันธุ์กล้าไม้ 200 ไร่ แปลงป่าไม้ใช้สอย 700 ไร่ แปลงป่าผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ 100 ไร่ แปลงป่าสมุนไพร 50 ไร่  “ป่าชุมชน” ก้าวย่างสู่ความยั่งยืน        เมื่อการปลูกป่าเกิดขึ้น การฟื้นฟูวิถีเดิมจึงกลับคืนมาด้วยเช่นกัน การอยู่กับธรรมชาติอย่างเคารพ เกื้อกูล พึ่งพิงอิงอาศัยฟื้นกลับมา การจัดการป่าหาใช่เป็นเพียงป่าทดแทนเท่านั้น แต่ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของป่าที่มีคุณค่า และประโยชน์อันมากมายจากป่า เกิดเป็นกฏเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่า คือ ห้ามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมาชิกคนใดต้องการใช้ไม้ในกรณีจำเป็นต้องแจ้งคณะกรรมการป่าทราบล่วงหน้า 3 วัน สมาชิกคนใดตัดไม้ 1 ต้น ต้องปลูกทดแทน 5 ต้น ผู้ใดตัดไม้โดยไม่บอกคณะกรรมการป่า จะถูกดำเนินคดีและจ่ายค่าปรับ 500 – 1000 บาท ค่าปรับที่ได้จะนำเข้ากองทุนพัฒนาป่าชายเลน กฎระเบียบนี้สามารถปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ห้ามบุคคลภายนอกเก็บลูกฝัก พันธุ์ไม้จากป่าชายเลนก่อนได้รับอนุญาต  และแม้ว่าในการจัดการป่าของชุมชน จะมีโครงสร้างคณะกรรมการในการดูแลจัดการ แต่กลับพบว่าจิตสำนึกของชาวบ้านกลับเป็นพลังสำคัญยิ่งที่หนุนเสริมการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ชาวบ้านต่างทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ในการดูแลรักษาป่า เป็นหูเป็นตาสอดส่องไม่ให้คนภายนอกเข้ามาลักลอบตัดไม้  เพราะผืนป่าชายเลนแห่งนี้คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนอย่างแท้จริง มีป่า มีแหล่งอาหาร จึงมีความพอเพียง     

ความผูกพัน และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลของชาวบ้านโคกพยอมกับทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมาอีกครั้ง จากผืนป่าชายเลน เชื่อมโยงสายน้ำ ลำคลอง ผืนดินที่ชาวบ้านอิงอาศัยในการทำไร่นาเรือกสวนไม้ผสม เกษตรธรรมชาติตามวิถีเดิมต่างกลับคืนสมบูรณ์ 

“คลองติงหงี”   
เป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่เป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำนานา ชาวบ้านใช้ลำคลองนี้เป็นแหล่งอาหารจับกุ้งหอยปูปลามาแต่อดีต เมื่อป่าสมบูรณ์ ย่อมทำให้แหล่งน้ำคูคลองสมบูรณ์ตาม คลองสายนี้จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนเรื่อยมา จนปัจจุบันมีการส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยการเลี้ยงปลาในกระชังตลอดแนวลำคลองจากกรมประมง ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ครัวเรือน  มีกระชังทั้งหมด 80 จากเริ่มต้นเพียงแค่ 20 กระชังเท่านั้น การบริหารจัดการกลุ่มที่ดีทำให้ชาวบ้านมีอำนาจในการต่อรอง ได้ราคาปลาที่เหมาะสม และไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ปัจจุบันมีเงินกองทุนหมุนเวียน เพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิก 25,000 บาท มีกระบวนการชุมชนในการดูแล จัดการ มีเวรยามทำหน้าที่ผลัดกันให้อาหารปลาและนอนเฝ้าปลาในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันขโมยจากชุมชนอื่น      มีกฎกติกา สวัสดิการสำหรับสมาชิกกลุ่ม หากพ่อแม่สมาชิกเสียชีวิตได้รับเงิน 3,500 บาท โดยมีการทำประกันชีวิตให้สมาชิกคนละ 50,000 บาท เสียค่าประกันเดือนละ 200 บาท แบ่งปันให้โรงเรียน 20,000 บาท เป็นค่าอาหารกลางวันของเด็ก และมีแนวคิดที่จะต่อยอดเงินให้แก่มัสยิดอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นการบริหารจัดการกลุ่ม ที่เชื่อมโยงชุมชนทั้งชุมชน และเป็นการจัดการอาชีพ ความเป็นอยู่โดยชาวชุมชนเพื่อชุมชน แสดงให้เห็นศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ของชาวบ้านในการพึ่งพาตนเองอย่างชาญฉลาดและเท่าทัน 

ต้นกล้าใหม่ ... เยาวชนโคกพยอม      
ขณะที่ชุมชนเข้มแข็ง ก้าวย่างไปสู่เส้นทางการจัดการตนเอง กระบวนการสำคัญอีกอย่างที่ชุมชนให้ความสำคัญคือ การหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แก่ลูกแก่หลาน การสร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ คือ กระบวนการที่ชุมชนให้ความสำคัญ ในการทำกิจกรรมต่างๆของชาวชุมชนโคกพยอมเยาวชนจะถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้งาน เรียนรู้วิถีทางของพ่อ แม่ เพื่อที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นผู้สืบทอดภารกิจกิจกรรมของส่วนรวมในวันข้างหน้า          

การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เริ่มปรากฎผล เกิดกลุ่มกิจกรรมของเยาวชน เช่น กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชายเลน ที่มีสมาชิก 12 คน หญิง 5 คน ชาย 7 คน และมีแนวร่วมอีก 10 – 20 คน ทำหน้าที่ สำรวจป่าชายเลนดูประเภทต้นไม้ สัตว์น้ำต่างๆ เป็นหู เป็นตาในการรักษาป่า เป็นอาสาสมัครวางปะการังเทียมในคลองติงหงี หลังจากโดนสึนามิ รวมทั้งจัดกิจกรรมศึกษาดูงานที่ต่างๆ เช่น จังหวัดตรัง โครงการอบรมหลักการธรรมรักษ์ การปกครองและอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น 5 จังหวัดภาคใต้ 

บรม : กระบวนการ บ้าน โรงเรียน และมัสยิด คุณธรรมนำจิตใจ     
เรื่องราวของหลากชีวิตบนผืนดินแนวป่าชายเลน โคกพยอมแห่งนี้ สะท้อนภาพชีวิตของวิถีพอเพียงในรูปแบบต่างๆ บนฐานสำคัญคือ การมีฐานทรัพยากรธรรมชาติในการอิงอาศัย ทั้งผืนดิน น้ำ ป่า ที่ผสมผสานเชื่อมโยง รวมทั้งการมีกลุ่มกิจกรรมที่มีการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้ หากชุมชนมีทรัพยากร พวกเขาก็จะสามารถหาอยู่หากิน อยู่ได้ และนอกจากจะอยู่ได้ ยังต้องมีกระบวนการในการสืบสานแนวคิดของชุมชน ทำให้เกิดการขยายผลของความรู้ชุมชนที่มีคุณค่า สร้างกระบวนการให้คนมองเห็นคุณค่าร่วมกัน มองเห็นคุณประโยชน์ของทรัพยากรต่างๆ ทั้งป่าชายเลน สายน้ำ ลำคลอง และทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอยู่       

มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ทั้งในรูปแบบกลุ่มกิจกรรม กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องต่างๆ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง ขนมลูกโรย การต่อเรือหัวโทงให้ลูกหลานได้ศึกษาในโรงเรียน หลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านโคกพยอมจึงเกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างเต็มที่ของชุมชน โรงเรียนรวมไปถึงมัสยิดประจำชุมชน เป็นการจัดการที่เชื่อมโยงหรือที่เรียกว่า บรม ซึ่งได้แก่ บ้าน โรงเรียน และมัสยิด ที่ร่วมมือร่วมใจกันในการเสริมสร้างความรู้และแนวคิดต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการดำเนินชีวิตให้กับลูกหลานของชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้กับลูกหลานต่อไป     

กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ของแกนนำ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผย ณ ศาลาการเรียนรู้ท่าน้ำ ที่เป็นดั่งโรงเรียนค่ำคืนที่ไม่เคยขาดหายผู้คนมาชุมนุมกัน ส่งผลให้กิจกรรมของชุมชนประสบผลสำเร็จ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในปี 2549 รางวัลหมู่บ้านประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน รางวัลหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข (small village) และเขียวขจีดีเด่น ความสำเร็จของชุมชนโคกพยอมในวันนี้ จึงเกิดจากพลังของคนในชุมชนทุกส่วนที่ร่วมกันคิด ทำ แก้ไข และจัดการชุมชนของตนเอง มีชีวิตที่มีวิถีผูกพัน และสอดคล้องกับฐานทรัพยากร มีแกนนำชุมชนที่ทำงานเชื่อมประสาน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ เชื่อมประสานเยาวชน มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้สืบสานวิถีของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย โคกพยอมจึงเป็นชุมชนพอเพียง ที่มีวิถีพึ่งพา ผูกพันกับดิน น้ำ ป่าอย่างเกื้อกูล และยั่งยืน และมีองค์ความรู้ที่สามารถสืบสานต่อไปได้

 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    ------------------
    ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.langu.go.th/

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com