ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
โรงแรม / ที่พัก
โรงแรม รีสอร์ท และสปา
ร้านอาหาร
ร้านอาหาร
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
ศิลปะหัตถกรรม
ธุรกิจขนาดกลาง/ ขนาดย่อม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

พระวิหารพุทธมหาบพิตร
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

                พระพุทธมหามงคลบพิตร หรือ สมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของไทยมาช้านาน แต่น้อยคนนักที่รู้จัก มีแต่การเดาและเล่าขานกันต่าง ๆ นานาในบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น จึงขอนำเรื่องราวของท่านมาเล่าขานสู่กันฟังจากการบอกเล่าของครูอาจารย์และท่านผู้มีพระคุณ เพื่อความเป็นมงคลแก่ท่านที่สนใจ

สมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตร  ท่านสาธุชนพุทธบริษัทปัจจุบันมีอยู่สององค์ ประดิษฐานอยู่ที่บ้านน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้งสององค์ก็เนื่องด้วยพระมหากษัตราธิราชเจ้า มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ และเป็นทองคำแท้ ๆ เนื้อเก้าองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ และการสร้างพระวิหารนี้ มีความเกี่ยวพันกับหลวงพ่อฤาษีพระราชพรหมยานทั้งในอดีตชาตินานมา และชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่าน พระพุทธมหามงคลบพิตรทั้งสององค์นั้น องค์ใหม่อยู่บนดินในพระวิหาร องค์เดิมอยู่ใต้ดินใต้พระวิหาร

 

ท่านบอกว่าองค์ใต้ดินเป็นทองเนื้อเก้า ถอดออกได้เป็นเก้าชิ้น สวยงามมาก ขนาดหน้าตักกว้างราวสามเมตร ใหญ่กว่าองค์ใหญ่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพ่อขุนศรีเมืองมาน สมัยนั้นบ้านเมืองอุดมเจริญรุ่งเรืองมาก

 

สำหรับความเป็นมาของการพบพระ และการทำนุบำรุงก่อสร้างวิหารน้ำน้อยหรือวิหารสมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตร พอสรุปรวมความจากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ (ม.ล.วรวัฒน นวรัตน์ คุณป้าจันทร์นวล นาคนิยม คุณยายกิมไล่ ชูโตชนะ) รวมทั้งท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พระครูปลัดอนันต์ พุทธญาโณ และที่หลวงพ่อฤาษีท่านเคยเล่าขานไว้คือ

 

สมัยที่หลวงพ่อฤาษีเดินทางไปสงเคราะห์ลูกหลานพุทธบริษัททางภาคใต้ครั้งแรก พ.ศ.2518 โดยมีหลวงปู่สิมพุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวงร่วมไปด้วย ที่จังหวัดชุมพร กระบี่สุราษฎร์ธานี  พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง และสงขลา พอคณะของหลวงพ่อเดินทางไปถึง สามแยกควนเนียง (เป็นทางแยกมีถนนไปสตูลบรรจบกับถนนจากพัทลุงและไปหาดใหญ่) มีเทวดาเครื่องทรงแพรวพราวสวย งาม ปรากฎกายหน้ารถต้อนรับหลวงพ่อและเหนือศีรษะเทวดาองค์นั้น มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลอยอยู่ เป็นนิมิตรหมายสะดุดตา เมื่อหลวงพ่อท่านเข้าที่พักผ่อนตอนกลางคืน ขณะเอนกายลงนอนมีพรหมองค์หนึ่งมานั่งอยู่ทางปลายเท้าและบอกกับหลวงพ่อว่า จะมาบอกเรื่องพระใหญ่แล้วได้เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีพระ พุทธรูปทองคำเนื้อเก้าเป็นทองคำแท้ฝังอยู่ใต้ดิน (ที่บ้านน้ำน้อย หาดใหญ่) จุดนั้นอยู่ห่างจากทาง รถไฟ ไปประมาณ 30 วา และออกจากเมืองหาดใหญ่ไปประมาณห้ากิโลเมตร เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในเมืองสงขลา สร้างในสมัยสุโขทัย สมัยนั้นสร้างพระทองคำใหญ่สามองค์ด้วยกัน ขนาดเล็กกว่ากันลดขนาดลงมานิดหน่อยตามลำดับแต่ละองค์ สามารถถอดออกได้ ประกอบได้เป็นเก้าชิ้น ไม่มีโลหะเจือปน ทั้งนี้ความมุ่งหมายในการก่อสร้างนั้น ท่านบอกว่ามีนัยเพื่ออาศัยพุทธานุภาพป้องกันภยันตราย ทุพภิกขภัย ให้ชาวไทยอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพุทธบริษัท รวมทั้งการเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินไทยเพื่อลูกหลานเหลนไทยในอนาคตกาลข้างหน้า พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่สุดท่านบอกว่า ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร คือหลวงพ่อพระพุทธสุโขทัยไตรมัตร อยู่ประจำภาคกลางของประเทศในกรุงเทพมหานคร

 

องค์ที่สองเล็กกว่าองค์แรกเล็กน้อย เล็กเท่าใดไม่แน่ชัด ขนาดหน้าตักเกือบสามเมตร เดิมประดิษฐานอยู่ในตัวเมืองสงขลา เป็นพระประจำภาคใต้ ขณะนี้อยู่ใต้ดิน ใต้วิหารน้ำน้อย องค์ที่สาม เล็กกว่าองค์ที่สอง เป็นองค์น้องสุดในสามองค์ แต่น้ำหนักเป็นตันด้วยทองคำแท้ ๆ องค์ที่สามนี้อยู่ในลำน้ำโขงตรงกลางแม่ น้ำแบ่งเขตแดนไทยกับชาติอื่น มีผู้รู้ท่านหนึ่งเล่าว่า ไม่นานมานี้ขณะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำโขง บริษัทรับเหมาก่อสร้างพบเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ พยายามใช้ลวดสลิงขนาดใหญ่ดึงองค์พระขึ้นมาจากน้ำ ปรากฎว่าลวดสลิงขาด พระท่านจมลงไปในน้ำไม่สามารถนำขึ้นมาได้

 

พระพุทธรูปองค์ที่สอง อยู่ที่เมืองสงขลามาตลอด จนถึง พ.ศ.2310 ที่กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองแก่พม่า พวกพม่าทำลายวัดวาอารามเอาพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ลอกเอาทองคำกลับเมืองตนมากมาย เฉพาะทองคำที่พระศรีสรรเพชรองค์เดียวที่พม่าข้าศึกทำลายองค์พระนำทองไป มีน้ำหนักกว่า 25,000 ชั่ง ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงภาคใต้ ซึ่งกองทัพส่วนหนึ่งของพม่ายกลงไปตีภาคใต้ ชาวเมืองสงขลารู้ข่าว จึงระดมคนแอบนำพระพุทธรูปทองคำล้วนทั้งองค์ล่องไปตามลำน้ำทางเรือ หาทำเลซ่อนองค์พระ พอไปถึงบ้านน้ำน้อยเห็นทำเลเหมาะเพราะเป็นป่าทึบ จึงเกณฑ์คนกว่าสามร้อยคนช่วยกันขุดหลุมลึกกว้าง 5 วา แล้วสร้างกำแพงอิฐโดยรอบยารอยต่อกันน้ำซึมเข้าลักษณะคล้าย ๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้า บรรจุอัญมณีเครื่องประดับมีค่ามากมายไว้กับองค์พระเป็นพุทธบูชา แล้วเก็บงำเป็นความลับสุดยอดจนคนต่อ ๆ มาไม่มีใครรู้ จนลุถึง พ.ศ. 2518 จึงนำความมาบอกหลวงพ่อฤาษีฯ เพราะท่านบอกว่า คณะเราเป็นนักบุญแท้ไม่ทอดทิ้งงานพระพุทธศาสนา จึงขอให้สร้างเจดีย์หรือสถูปบนดินเหนือองค์พระ กันไม่ให้คนเดินข้ามเศียรพระ จะเป็นโทษแก่พวกเขา นอกจากนี้สมัยก่อนโน้น หลวงพ่อก็เป็นผู้ร่วมสร้างพระทองคำทั้งสามองค์ด้วย

 

พระพุทธรูปทั้งสององค์ทั้งในดินและในน้ำ ท่านบอกว่าเมื่อถึงเวลาคือประชาชนมีจิตใจดี มีศีลธรรมมากกว่านี้ ทั้งสององค์จะปรากฎขึ้นมาเอง ถ้านำขึ้นมาก่อนจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะความโลภของคนและหลวงพ่อบอกว่าสำคัญมากสำหรับแดนดิน ไม่ควรนำขึ้นมาเป็นอันขาด

 

เมื่อเราทราบข่าวว่า พระครูปลัดอนันต์และลูกหลานหลวงพ่อจะไปบูรณะเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี เมื่อ 25 สิงหาคม 2539 ของการสร้างวิหาร การบูชาพระมหามงคลบพิตร จึงเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า พระใหญ่ในดินนั้นเป็นเช่นไร แล้วก็ฝันไป (ฝันก่อนได้ยินเขาเล่าขานจากผู้รู้) ว่าเป็นพระใต้ดินปางมารวิชัยองค์ใหญ่เป็นวา หน้ายิ้มละมัยสวยชวนมอง ค่อนข้างกลม อิ่มเอิบสมส่วน (บรรยายยาก) เห็นแล้วชี่นใจ และถ้าจำทิศไม่ผิดพลาดท่านหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระสององค์สำคัญทั้งในดินและในน้ำที่กล่าวแล้วนั้น ช่วยป้องกันและเชื่อมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะมีคนคอยจ้องจะทำลายเป็นศัตรูอยู่ตลอดเวลา แบบปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ รอฉกฉวยโอกาสให้เราคนไทยวุ่นวายหงุดหงิดเป็นนิจ ต่อมาข้าพเจ้าจึงได้รับฟังคำบอกเล่าจากผู้รู้และอยู่ในเหตุการณ์สมัยหลวงพ่อท่านเริ่มไปสงเคราะห์ภาคใต้ ซึ่งก็ใกล้เคียงกันมาก ๆ

 

ทีนี้หลวงพ่อและหลวงปู่เมื่อไปพิสูจน์ดูก็เห็นเป็นจริงตามที่พรหมบอก แต่ปู่ครู หลวงปู่ธรรมชัยเห็นทีหลังหลวงพ่อและหลวงปู่สิมว่ามีพระและอัญมณีมากมายควรค่าแก่กษัตริย์ เนื่องจากถูกกเทวดาล้อเล่นโดยเอามือปิดบังเอาไว้ จากนั้นหลวงพ่อก็ติดต่อหาเจ้าของที่ดินของซื้อที่ตรงนั้น เจ้าของคือคุณยายกิมไล่ ชูโตชนะ และสามีไม่ยอมขาย แต่ยกให้ฟรี ๆ ตามแต่ต้องการ หลวงพ่อรับมาเพียง 200 ตารางวาเศษ ๆ เพื่อจัดสร้างวิหาร คณะศิษย์ท่าน โดยเฉพาะทางกรุงเพทฯ โดยท่าน อ๋อยคุณเฉิดศรี และท่านเจ้ากรมเสริม สุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าจัดหาเงินเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง 240,000 บาท ม.ล.วรวัฒน์ นวรัตน์ ผู้อำนวยการการไฟฟ้ากระบี่สมัยนั้น จัดแรงงานมาฟรีโดยคณะการไฟฟ้ากระบี่และนายณรงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง ออกแบบวิหารวันที่ 15 พฤษภาคม 2519 พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ได้ถวายพระพุทธรูป (แบบพระพุทธชินราช) แด่หลวงพ่อเพื่อประดิษฐานที่วิหารนี้ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปที่วิหารน้ำน้อยและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เศียรพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ (องค์เดิมในดิน มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในพระอุระ) ตอนนั้นมีพระอริยเจ้าที่มีขันธ์ 5 ไปร่วมพิธีอีก 6 องค์ นอกจากหลวงพ่อของเรา ได้แก่ หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร หลวงปู่ชุ่ม โพธิ์โก หลวงปู่บุดดา ถาวโร หลวงปู่ครูบาธรรมชัย หลวงปู่ครูบาชัยวงษา และหลวงน้ามหาอำพัน ส่วนการกระทำพิธีบวงสรวง อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในวิหารครั้งแรกนั้น มีหลวงปู่สิม หลวงปู่ครูบาธรรมชัย และหลวงพ่อของเราดำเนินการ

 

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่อจัดเตรียมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงบรรจุในพระพุทธมหามงคลบพิตรนั้น เป็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองพร้อมตลับเงินฉลุสวยงาม คุณป้าจันทร์นวล นาคนิยม เล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อเดินไปมาคิดว่าจะเอาพระบรมสารีริกธาตุจากไหนถวายจึงจะเหมาะ องค์เล็ก ๆ หลวงพ่อก็มีอยู่มากแล้ว ท่านเห็นห่อผ้าเช็ดหน้าสีเหลืองริมลูกไม้วางอยู่ เมื่อหยิบมาเปิดดูข้างในห่อผ้ามีตลับเหลี่ยมลายเงินฉลุงามมาก มีฝาเปิดได้คล้ายนาฬิกาพกแบบโบราณ เมื่อเปิดฝาตลับ มีลูกกลม ๆ หินใส ๆ สองข้างมองเห็นข้างใน มีพระบรมสารีริกธาตุกว่าสิบองค์ หลายสีสวยงามมาก ที่เด่นชัดองค์โตราว ๆ เม็ดถั่วเขียว เป็นสีชมพูทับทิม 4-5 องค์ สีงาช้าง สีอิฐ สีขาว หลวงพ่อจึงจัดเตรียมพระบรมสารีริกธาตุนี้แด่พระเจ้าอยู่หัวในวันนั้น

 

มีเกร็ดเล่าถึงวันที่ ในหลวงเสด็จวิหารน้ำน้อย 26 สิงหาคม 2519 ว่า มีประชาชนมารอรับเสด็จมากมาย บางคนกลัวฝนตกจะเป็นที่ลำบาก จึงได้บนกรมหลวงชุมพรหรือท่านท้าววิรุฬหก ขอฝนอย่าตกจนกว่าพระองค์ท่านเสด็จกลับ แต่ท่านไม่รับการบน ท่านบอกว่า ถ้าผู้มีบุญมาฝนต้องตกอย่างน้อยแบบปรอย ๆ (แต่ถ้าทำไม่ดีไม่ถูกต้องฝนจะตกหนัก) ก็เป็นจริงตามนั้น ฝนตกปรอย ๆ พอชื่นใจ แบบที่เราพูดกันว่า เทวดาพรมน้ำมนต์อวยพรให้ซึ่งมีปรากฎการณ์เช่นเดียวกันนี้ในวันฉลองวิหารครบ 20 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2539 เช่นกัน

 

ม.ล.วรวัฒนฯ เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า สถานที่พระใต้ดินอยู่นั้น เดิมทีอยู่หลังวิหารปัจจุบัน ที่ตรงนั้นเป็นแอ่งน้ำ หลวงพ่อจึงให้สร้างค่อนมาทางหน้า เมื่อกระทำพิธีบวงสรวงเสร็จ พระพุทธรูปและทรัพย์อัญมณีก็เลื่อนเข้าไปอยู่ใต้วิหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะว่าเป็นอานุภาพของเทวดาที่อารักขาพระพุทธรูปอยู่จัดการให้ก็ได้ คณะศิษย์ของหลวงพ่อทางภาคใต้ได้ดำเนินการดูแลรักษาตลอดมา ซึ่งจริงดังที่พระพรหมท่านว่าไว้เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2537 คณะศิษย์ฯได้ซ่อมแซมทั้งอาคารและองค์พระพุทธรูปในวิหาร ใช้เงินประมาณ 200,000 บาท รวมทั้งได้อัญเชิญรูปหล่อของหลวงปู่ปานและหลวงพ่อฤาษี พระอาจารย์จากวัดท่าซุง อุทัยธานี ไปประดิษฐานที่วิหารนี้

 

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย คุณยายกิมไล่ ชูโตชนะ ขณะนี้ได้ดำเนินการเรื่องยกที่ดิน 200 ตารางวาเศษ ผืนสำคัญนี้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ด้วยความช่วยเหลือจาก ม.ล.วรวัฒน์ นวรัตน์) เนื่องจากคุณยายไม่มีลูก อายุก็มากแล้ว ราว 90 ปี ต่อไปอาจถูกคนโลภที่รู้เรื่องราวโกงเอาไปได้ ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่แล้ว มีคนมาขออาศัยที่ของคุณยายใจดีท่านนี้ คุณยายก็ให้ แล้วเขาก็แอบไปออกโฉนดอ้างเป็นเจ้าของที่ยึดเอาไปเสียเฉย ๆ ที่แห่งนั้นก็มีอยู่หลังวิหารน้ำน้อย สมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตรอาศัยเป็นที่ทำมาหากินแบบอื่นนอกนัยพระพุทธศาสนา ซึ่งเราขอยืนยันวาไม่เกี่ยวกับ พระพุทธมหามงคลบพิตรของเราแต่อย่างใด

 

ก่อนจะจบเรื่องเล่า พระพุทธรูปทองคำเนื้อเก้า ถอดออกและประกอบได้เป็นเก้าชิ้นสำคัญ บังเอิญข้าพเจ้าได้ค้นพบเรื่องราวของ พระทองคำวัดไตรมิตรอันมีการเอ่ยอ้างถึงข้างต้น ล้วนช่วยสนับสนุนคำกล่าวของ ท่านและเป็นการพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า สร้างสมัยสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยการพินิจพิเคราะห์เอาตามตำราศิลปะประจำยุคสมัย

 

ข้อเขียนอาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ และพลตรีผจญ กิตติประพันธ์ ล้วนมีใจความคล้ายกันโดยสรุปว่า พระพุทธรูปทองคำแท้วัดไตรมิตร สร้างสมัยกรุงสุโขทัยยุคกลาง ประมาณรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ( พ.ศ.1820-1860) ขนาดหน้าตักกว้างหกศอก ห้านิ้ว (3.1 เมตร) พระเกตุยาวหนึ่งศอก หนึ่งคืบ (75 เซนติเมตร) ความสูงรวมพระเกตุมาลา (ไม่คิดอาสนะ) เจ็ดศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว (3.9 เมตร) ไม่รวมพระเกตุมาลาสูง 3.16 เมตร องค์พระถอดออกได้เป็นเก้าชิ้น เพิ่งจะรู้ว่าเป็นพระทองคำแท้เมื่อ 26 พฤษาภาคม 2498 

 

 

วันเปิดทำการ :  ทุกวัน
 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com