ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลคลองมานิง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

กูโบว์ปังลิมอ
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

กูโบว์ปังลิมอ หรือสุสานนักรบปัตตานี จำนวน 5 คน ตั้งอยู่ที่บ้านตันหยงลิมอ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองมานิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ห่างจากมัสยิดกรือเซะไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสุสานที่ประดับด้วยหินเหนือหลุมฝังศพ สลักลวดลายสวยงามเรียงกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยไม่มีการฝังศพผู้อื่นในบริเวณดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน สุสานดังกล่าวมีอายุกว่า 200 ปี ผู้เสียชีวิตมีหน้าที่เป็นแม่ทัพต่อสู้กับกองทัพสยามในสงครมครั้งใหญ่ปี 2329 ครั้งนั้นปัตตานีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสงครามเป็นจำนวนมาก ที่เหลืออพยพหลบหนีออกจากตัวเมือง รวมทั้งเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ของรัฐมลายูตอนบน เช่น กลันตัน เคดาห์ ตรังกานู และเปรัค ตลอดจนหมู่เกาะมลายู อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง แต่เนื่องจากสงครามระหว่างปัตตานีกับสยามเกิดขึ้นหลายครั้ง จึงไม่ทราบข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่แน่ชัด รวมทั้งผู้อาวุโสในชุมชนก็ไม่สามารถระบุได้ว่าแม่ทัพทั้ง 5 คือใครบ้าง


จากการศึกษาข้อมูลเอกสารที่กล่าวถึงชาวปัตตานีในต่างแดน พบว่า ชาวปัตตานีอพยพไปยังรัฐต่างๆ ของดินแดนมลายูเหป็นจำนวนมาก จนกระทั่งไปตั้งเป็นหมู่บ้าน และถิ่นพำนักในชุมชนหลายแห่ง เช่น บ้านกำปงปตานี ในตรังกานู บ้านบังโฆลปตานี ในกลันตัน บ้านเกอโระห์ กำปงลาลัง รันเตาปันยัง เซอลามา ฯลฯ ในเปรัค เป็นต้น โดยเฉพาะที่ตรังกานู บริเวณริมทะเลเริ่มตั้งแต่อำเภอเบอซุต สะติว ปากา และเกอมามัน เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมง ที่ผู้บุกเบิกตั้งถิ่นฐานเป็นชาวปัตตานีที่อพยพหนีภัยสงคราม หลังจากชาวปัตตานีส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนโดยกองทัพสยามไปยังกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2329 ชาวปัตตานีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ผู้รู้หรืออูลามะอ์ในศาสนาอิสลาม ข้าราชการในราชสำนักและราชนิกุล ต่างอพยพหลบหนี ในจำนวนนี้มีหลายครอบครัวในตรังกานู แถบหมู่บ้านชายทะเลดังกล่าวที่ระบุว่ามาจากครอบครัว "แม่ทัพปัตตานี" โดยเฉพาะครอบครัวหนึ่งที่อ้างอิงไว้ในหนังสือ Pengantar Sejarah Patani เขียนโดย Ahmad Fathy al-Fatani (1994) คือครอบครัวของ ดร.ชาฟิอี อาบู ปาการ์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ระบุว่า ครอบครัวของเขาอยู่ที่ปากา มาจากตระกูล "แม่ทัพปัตตานีที่พ่ายแพ้สงครามต่อสยาม" (Panglima Patani yang Kalah perang dengan Siam) ข้อความดังกล่าวแม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างสุสานปังลิมอที่ปัตตานีกับลูกหลานแม่ทัพปัตตานีที่กล่าวถึงได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการแสดงถึงความเป็นมา และความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ที่ปรากฎเป็นโบราณสถานอยู่ในท้องถิ่น ที่ควรค่าแก่การศึกษา ทั้งนี้เพื่อไม่ใช่ต้องการให้ "ซ้ำรอย" แต่เพื่อการ "เรียนรู้" และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะนำมาซึ่งความสมานฉันท์ที่แท้จริง ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เกิดความสูญเสียกับทุกฝ่าย แต่นั้นคือผลลัพธ์จากสงครามแทบทุกครั้ง ดังนั้นการได้ไปเยี่ยมเยือนสุสานแห่งนี้ หากมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพไม่หวังผลนำไปขยายความขัดแย้ง ความสงบสุขบนแผ่นดินแห่งนี้ก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เช่นที่ผ่านมา 

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com