ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
ศิลปะหัตถกรรม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

สุเหร่าอาวห์ หรือ มัสยิดอาโฮ
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

สุเหร่าอาวห์ หรือ มัสยิดอาโฮ ตั้งอยู่ที่หมู่บเานตันหยง ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นสุเหร่าขนาดเล็กสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร หลังคาทรงจั่ว 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ถือว่าเป็นมัสยิดรุ่นแรกของปัตตานีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ในเวลานี้ ที่ตั้งของสุเหร่าอยู่ใกล้กับคลองตันหยง ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของแม่น้ำปัตตานีสมัยลังกาสุกะ ที่ตั้งของมัสยิดเดิมอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชมุชนขนาดใหญ่ ที่พ่อค้าวานิชเข้ามาแวะพักซื้อสินค้า เพราะสามารถเดินเรือจากอ่าวปัตตานีต่อไปถึงยาลอ (ยะลาในปัจจุบัน) และข้ามไปถึงเปรัคและเคดาห์ได้ ต่อมาลำน้ำสาขาและคลองตันหยงที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำปัตตานีแถบบ้านประโด บ้านกอลำ และบ้านเมาะมาวี ตื้นเขินลง แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินทำให้ปากแม่น้ำคลองตันหยงตื้นเขินไม่สะดวกในการนำเรือเข้ามาค้าขาย ศูนย์กลางความเจริญของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนไป ปัจจุบันยังคงปรากฎร่องรอยความเก่าแก่ของชุมชน บ้านตันหยงแห่งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นท่าเรือมาตั้งแต่สมัยลังกาสุกะแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นที่ชุมชนของพ่อค้าอิสลาม ชาวอาหรับและเปอร์เซีย จากดินแดนปาร์ซี (Parsi) หรือคาบสมุทรอาหรับในสมัยโบราณ ในหนังสือ Hikayat Raja Langasuka (Bougas,1994 : 29) ระบุว่า พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซีย เหล่านี้นิยมแต่งงานกับชาวมลายูท้องถิน และพากันเดินทางไปค้าขายแถบจีนและกัมพูชา แม้ว่าหลักฐานข้อมูลการเข้ารับศาสนาอิสลามครั้งแรกของชาวปัตตานียังคงขาดความชัดเจน แต่เชื่อว่าชาวปัตตานีเข้ารับอิสลามครั้งแรกตั้งแต่ประมาณคริสตศักราช 1000 และเป็นผู้นำไปเผยแพร่ในกลัยตัน ราวคริสตศักราช 1200 ขณะนั้นกษัตริย์ปัตตานียังนับถือศาสนาพุทธ มีเมืองหลวงอยู่ที่โกตาหลิฆัย อีกราว 300 ปี ต่อมา หลังจากย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรือเซะ กษัตริย์จึงเปลี่ยนมาเข้ารับศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามที่ปัตตานี จึงเชื่อว่าสุเหร่าอาวห์ สร้างขึ้นสมัยที่คนปัตตานีเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในยุคแรก ก่อนสร้างเมืองปัตตานีที่กรือเซะ และถือว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของปัตตานี (Bougas ,1992) ที่เหลืออยู่ในเวลานี้ นอกจากนั้นที่หมู่บ้านตันหยงแห่งนี้ก็ถือว่าเป็นที่กำเนิดปอเนาะแห่งแรกของปัตตานีเช่นกัน (Halim Bashah,1994)


สุเหร่าอาวห์หลังเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำตันหยงอาจมีอายุเก่าแก่ถึง 600 ปี เมื่อประสบปัญหาตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ จึงถูกย้ายมาในที่แห่งใหม่ที่เป็นที่ตั้งในปัจจุบัน ผู้อาวุโสในชุมชนเล่าให้ฟังว่า ไม่สามารถระบุอายุของสุเหร่าอาวห์ที่แน่นอน แต่อย่างน้อยมีอายุเก่าแก่ถึง 600 ปี เนื่องจากสุเหร่าหลังนี้เดิมตั้งอยู่ใกล้ริมตลิ่งของคลองตันหยง แต่เมื่อมีปัญหาน้ำในแม่น้ำกัดเซาะ จึงได้ช่วยกันหามมาวางในที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่มีการบันทึกไว้ จนถึงปัจจุบันได้มีการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างหลังคา ฝาผนัง พื้นและเสา โดยเฉพาะเสานั้นได้เปลี่ยนมาใช้เสาปูนแทนเสาไม้ ซึ่งได้ผุกร่อนไปตามกาลเวลา แม้ว่าจะมีการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็คงสภาพเดิมไม้ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการสร้างบันไดทางขึ้นด้วยคอนกรีต แทนบันได้ไม้ที่ชำรุด และสร้างโรงเรียนตาดีกาสำหรับให้การศึกษาแก่เด็กๆ ในชุมชนติดกับสุเหร่าดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้ทัศนียภาพเดิมเสียไปบ้าง แต่ก็พยายามสร้างให้กลมกลืนกับสภาพเดิมของสุเหร่า

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com