ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
เส้นทางท่องเที่ยวโดยทัวร์อื่นๆ
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
ศิลปะหัตถกรรม
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

มัสยิดกรือเซะ
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

มัสยิดกรือเซะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๑๕.๑๐ เมตร ยาว ๒๙.๖๐ เมตร สูง ๖.๕๐ เมตร เสาทรงกลม เลียนรูปลักษณะแบบเสาโคชิดของยุโรป ช่องประตูหน้าต่าง มีทั้งแบบโค้งแหลมและโค้งมนแบบโคธิดโดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง


ตำนานมัสยิดกรือเซ๊ะ ที่กรือเซะ-บานา เป็นเรื่องราวที่ได้สร้างความอัปยศให้กับสังคมมุสลิมนับตั้งแต่ได้มีประวัติศาสตร์อิสลามเกิดขึ้นมาในปัตตานี เริ่มจากรัชสมัยของพระยาอินทิราแห่งราชวงศ์ RAJA WANGSA ซึ่งพระองค์เข้ายอมรับในศาสนาอิสลาม และมีพระนามว่า สุลต่าน อิสมาแอล ชาห์ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว มัสยิดกรือเซ๊ะ ไม่ได้ถูกสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคียม เหมือนกับตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับบอกเล่าต่อๆ กันมา หรือตามตำนานที่ได้ถูกบันทึกในวารสาร อสท.ของ ททท.และมัสยิดกรือเซ๊ะไม่ได้ถูกฟ้าผ่า เนื่องจากคำสาปแช่งของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยวหรือหลิมกอเนี่ยว ที่ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ริมชายหาดตันหยงลูโล๊ะ ดั่งที่ตำนานได้บอกกล่าวไว้ ที่ว่า“เมื่อนางไม่สามารถชวน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียน ผู้เป็นพี่ชายกลับเมืองจีนเพื่อไปดูแลแม่ที่ชราได้ นางจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ได้ตัดสินใจผูกคอตายกับต้นมะม่วงหิมพานต์ (ยาโหง่ย,ยาร่วง,ยาหมู) พร้อมทั้งได้อาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะที่เป็นต้นเหตุให้พี่ชายไม่สามารถกลับเมืองจีนพร้อมกับนางได้ นางจึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ขอให้มัสยิดหลังนี้มีอันเป็นไปในทุกๆครั้งที่มีการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จ จากนั้นก็ได้มีฟ้าคะนองพร้อมกับได้มีอสนีบาตฟาดลงบนโดมมัสยิดพังพินาศเสียหาย ชาวมุสลิมต่างเกรงกลัวต่ออิทธิฤทธิ์ของนางลิ้มกอเหนี่ยวไม่กล้าที่จะกลับมาสร้างต่อ และครั้งใดก็ตามที่ชาวมุสลิมคิดที่จะบูรณะมัสยิดหลังนี้ เมื่อทำการบูรณะเสร็จก็จะโดนฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนชาวมุสลิมไม่กล้าบูรณะมัสยิดหลังนี้อีกต่อไปและปล่อยให้มัสยิดรกร้างตั้งแต่นั้นมา ด้วยเพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิฤทธิ์ของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยว หรือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบัน”

แต่ในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยบางส่วนและประวัติศาสตร์ของชาวมลายูบันทึกว่าสาเหตุที่มัสยิดกรือเซ๊ะเสียหาย เพราะโดนกองทัพจากกรุงสยามเข้าตีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2328 ครั้งที่กองทัพสยามเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ทหารสยามได้ระดมยิงปืนใหญ่จนเมืองและพระราชวังเสียหายตลอดจนมัสยิดเสียหาย และเมื่อทหารสยามรบชนะก็ได้ทำการเผามัสยิดเพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มบนโดมมัสยิดกรือเซ๊ะอันสวยงามแห่งนี้ และหลังจากกองทัพสยามได้ยกทัพมาปราบหัวเมืองปักษ์ใต้ กล่าวกันว่า ในสมัยที่กองทหารสยามกวาดและริบทรัพย์สินจากเชลยศึกในสงครามปัตตานีในสมัยที่กองทัพถอยทัพกลับนั้นด้วยความที่ทรัพย์สินของปัตตานีมีมาก เรือลำหนึ่งที่บรรทุกปืนใหญ่ศรีนะฆะราจมล้มในอ่าวปัตตานี และทหารสยามต้องเท้ากลับกรุงเทพมหานครฯ เพราะเรือของกองทัพเรือทั้งต้องบรรทุกทรัพย์สินของเชลยศึกที่ยึดได้จากสงครามกลับกรุงเทพฯ

ปัตตานี กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และปีนังถูกตีและยึดครองในสมัยนั้น และในปี พ.ศ.2329 กองทัพสยามได้ยึดปืนใหญ่นางพญาตานี ขึ้นไปกรุงเทพฯ พร้อมกับได้ทำการกวาดต้นเชลยศึกมลายูขึ้นไปจำนวนหลายสิบหมื่นคน เพื่อไปเป็นโลห์มนุษย์และทำการขุดคลองจนได้ชื่อว่าคลองแสนแสบในปัจจุบัน สถานที่ๆ เชลยศึกและทาสมลายูถูกปล่อยเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุดก็คือแถวคลองตัน พระโขนง มีนบุรี หนองจอก ทุ่งครุ นครนายก ปทุมธานีและแปดริ้ว( อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเฉิงเทรา ปัจจุบัน)
มัสยิดกรือเซ๊ะ หรือมัสยิดปินตูกรือบัง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ถูกฟ้าผ่าดั่งที่เรื่องราวของตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนียวบันทึกไว้ แต่โดนเผาเมื่อตอนที่สมัยกองทัพสยามได้เข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ แม่ทัพบางคนที่คุมทัพรัตนโกสินทร์ครั้งนั้น อย่างเช่นพระยาราชบังสัน ซึ่งเป็นมุสลิมเสียใจต่อการกระทำครั้งนี้ของกองทัพสยามอย่างมาก แต่สงครามก็คือสงคราม ผู้ชนะย่อมต้องทำลายเมืองหรือศาสนสถานตลอดจนบ้านเรือนของผู้พ่ายแพ้สงคราม เพื่อไม่ตั้งตัวเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินในอนาคตได้ กองทัพพม่าได้เคยกระทำต่อกรุงศรีอยุธยาฉันท์ใด กองทัพสยามก็ได้ทำต่อปัตตานีฉันท์นั้น

มัสยิดกรือเซ๊ะ หรือมัสยิดปินตูกรือบัง ได้ถูกกรมศิลปกรตีทะเบียนเป็นโบราณสถานและทำการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2478 และได้ทำการบูรณะอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2500 และในปี พ.ศ.2525 ได้ทำการบูรณะอีกครั้งเนื่องในโอกาสสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียน เข้ามาในปัตตานี เมื่อประมาณปี พ.ศ.2119 ในสมัยแผ่นดินสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ โดยได้นำเรือสำเภามาจอดเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือตันหยงลูโล๊ะ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียนได้อภิเษกสมรสเจ้าหญิงคนไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงฮิเยาว์ เจ้าหญิงบีรู หรือเจ้าหญิงอูงู เพราะฉะนั้นตามตำนาน(ที่ตำนาน-นาน) ได้เล่าต่อๆ กันมาว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้แต่งงานกับบุตรีของเจ้าเมืองปัตตานี น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะในประวัติศาสตร์อิสลามปัตตานี นับตั้งแต่พระยาอินทิราเข้ารับอิสลามมาจนถึงการปกครองของสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ ซึ่งอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.2043-2127 ไม่ปรากฏว่าบุตรีของสุลต่านองค์ใดแต่งงานกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียนเลย และมัสยิดกรือเซะไม่ได้ถูกสร้างในสมัยสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ แต่น่าจะสร้างในรัชสมัยของสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ (พระยาอินทิรา)ภายหลังจากที่พระองค์ได้เข้ารับศาสนาอิสลาม และสิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ศีลปะของมัสยิดกรือ เป็นศิลปะแบบเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโค้งประตูหรือเมี๊ยะรอบ ล้วนแล้วแต่เป็นทรงและศีลปแบบเปอร์เซียทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะสร้างมัสยิดหลังนี้ ตามที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเล่าต่อๆ กันมา เพราะถ้าเราได้ไปดูมัสยิดในเมืองจีนที่สร้างเมื่อ 400-500 ปีที่แล้ว เราเห็นได้ว่า มัสยิดเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นทรงจีน(เหมือนวัดจีน)ทั้งสิ้น ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเอาศีลปกรรมแบบเปอร์เซียมาสร้างมัสยิดนี้ได้อย่างไร อาจจะเป็นไปได้ว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม อาจจะเข้ามาช่วยอาสาบูรณะมัสยิดภายหลังจากเกิดความเสียหายจากสงครามก็เป็นได้ อีกอย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ได้สมรสกับบุตรีของสุลต่านปัตตานีดั่งที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวว่ากล่าวไว้ แต่อาจจะสมรสกับเครือญาติของสุลต่านก็เป็นได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเป็นผู้ที่อาสาต่อเติมมัสยิดให้เสร็จสิ้นและสิ่งที่น่าสังเกตก็คือในสมัยเจ้าหญิงฮิเยาว์ เจ้าหญิงบีรู เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิงครองเมืองปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ.2127-2230 มัสยิดกรือเซะก็ยังไม่ถูกทำลาย มัสยิดกรือเซะยังคงถูกบันทึกว่าเป็นมัสยิดที่งดงามภายในมัสยิดมีลวดลายอันวิจิตร บนยอดโดมของมัสยิดกรือเซะหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์

อาจเป็นไปได้ว่าในสมัยราชินีฮิเยาว์ เคยเกิดสงครามครั้งหนึ่งที่ทำให้มัสยิดเสียหาย คือในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ส่งกองทัพเรือเข้ามาตีเมืองปัตตานี โดยมีออกญาเดโช เป็นผู้นำทัพ โดยมาขึ้นที่ปากอ่าวเมืองปัตตานีและบุกเข้าประชิดตัวเมือง ราชินีฮิเยาว์ได้นำทหารหาญของเมืองปัตตานีออกมาต่อต้านกองทัพอยุธยาอย่างเต็มกำลังสามารถ โดยใช้ปืนใหญ่ออกมายิงต่อสู้จนกองทัพสยามต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด และในศึกสงครามครั้งนี้ทำให้มัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดปินตูกรือบังเสียหาย ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งรับราชการอยู่จึงรับอาสาช่วยบูรณะซ่อมมัสยิดกรือเซะ และเป็นเวลาเดียวกับที่นางหรือนางสาวลิ้มกอเหนี่ยว (สมัยนั้นยังไม่ได้รับฉายาเป็นเจ้าแม่) มาตามพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ยอมกลับเพราะยังบูรณะมัสยิดไม่เสร็จ และอาจเป็นไปได้ว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีความตั้งใจแล้วว่าจะไม่กลับไปแผ่นดินจีนอีกเพราะ 1.ต้องการบูรณะมัสยิดให้เสร็จ 2.ต้องต้องการที่จะตั้งรกรากใหม่ที่นี่เพราะมีลูกมีเมียแล้ว 3.เพราะตนเข้ารับอิสลามและเป็นมุสลิม

นางสาวลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อได้รับการปฏิเสธจากพี่ชายก็เลยเสียใจ เพราะได้รับปากกับทางบ้านแล้วว่าจะนำพี่ชายไปยังบ้านเกิดให้จงได้ ไม่ว่าพี่ชายจะอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของภารกิจอย่างไรก็ตาม ลิ้มกอเหนี่ยวก็ไม่ยอมฟัง เมื่อไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจพี่ชายให้คล้อยตามนางได้ นางจึงเสียใจเป็นที่สุดเพราะนางไม่สามารถบากหน้ากลับบ้านไปหาแม่ได้โดยปราศจากพี่ชาย จึงได้ตัดสินใจผูกคอตายโดยใช้ผ้าหรือเชือกผูกกับต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ริมชายหาดตันหยงลูโละ ส่วนนางจะสาปแช่งให้ฟ้าผ่ามัสยิดหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าหากนางสาปแช่งมัสยิดกรือเซะจริง แล้วใครเป็นคนได้ยิน แล้วหากมีคนได้ยินตอนที่นางสาปแช่ง ทำไมไม่ช่วยกันห้าม การผูกคอตายครั้งนี้เป็นไปเพราะน้อยใจพี่ชายเท่านั้น หรือหากนางอาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะ ก็คงไม่ใช่เพราะแรงอาฆาตพยาบาทหรือแรงอธิษฐานของนางหรอกที่ดลบันดาลให้ฟ้าผ่ามัสยิดกรือเซะ หรือหากมีฟ้าผ่ามัสยิดกรือบ้างก็เพียงเพราะเหตุที่โดมสัมยิดกรือหุ้มด้วยทองคำต่างหากเพราะมัสยิดกรือเซะในสมัยนั้นไม่มีสายล่อฟ้า ในความเป็นจริงมัสยิดกรือเซะก็ไม่ได้เสียหายเพราะถูกฟ้าผ่า
ผู้ชนะย่อมสามารถเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาเองได้ แต่การจะเขียนว่า “มัสยิดกรือเซะโดนนางสาวหรือนางลิ้มกอเหนี่ยว สาปแช่งไว้จนถูกฟ้าผ่านั้น” มันขัดกับความจริงที่เกิดขึ้น “จึงอุปโลกตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นมาเพราะต้องการปกปิดความจริงบางอย่าง” ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องปกปิดเลย เพราะอดีตก็คืออดีต อดีตมีเพื่อเรียนรู้ไว้เป็นบทเรียน สิ่งที่ดีจากการเรียนรู้ในอดีตเราก็สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ สิ่งที่ไม่ดีก็ต้องจดจำไว้เป็นอุทาหรณ์เพื่อช่วยกันป้องกันแก้ไขอย่าให้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การที่มีลูกปืนใหญ่ยิงถล่มเข้ามาโดนมัสยิดจนเสียหายในช่วงสงคราม มันเป็นเรื่องปกติ การที่ทหารเข้าปล้นสดมภ์บ้านเรือนกวาดต้อนเชลยศึก ตลอดจนยึดทรัพย์สินของมีค่าในระหว่างสงคราม หรือเผาศาสนสถานเพื่อลอกเอาทองคำออกจากโบสถ์ วิหาร อาราม วัด สุเหร่า หรือมัสยิด มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสงครามที่ไม่เห็นจะต้องปกปิด แล้วสร้างตำนานด้วยเรื่องที่จะทำลายศรัทธาของชาวมุสลิมอย่างร้ายแรงกว่า ที่ไม่อาจรับได้ เพราะฉะนั้นอยากขอร้อง สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.ภาคใต้เขต 1 , สำนักงาน ททท.ภาคใต้เขต 3 , บริษัทท่องเที่ยว ตลอดจนมัคคุเทศก์ กรุณาช่วยปฏิบัติหน้าที่ทูตวัฒนธรรมหรือทูตของประเทศอย่างมีความรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์ เรียนรู้อดีต ปัจจุบัน ตลอดจนติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนยุทธศาสตร์ของจังหวัดให้ดี เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นให้แตกฉาน ไม่ใช่ไปอธิบายเรื่องตำนานแล้วบอกว่าเป็นประวัติศาตร์ เพราะมันจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น สามจังหวัดภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่สวยงาม มีโบราณสถานให้ศึกษา มีขนมธรรมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามไม่แพ้ที่ใดในประเทศนี้ แต่สามจังหวัดกลับเสียโอกาสที่จะพัฒนธรรมทรัพยากรการท่องเที่ยวมีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับคนในท้องถิ่นชนในชาติตลอดจนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด เพราะเราไม่ยอมเรียนรู้ข้อดีปรับปรุงข้อด้วยของกันและกัน หวังว่าอนาคตอันใกล้นี้ เราคงจะไม่ได้ยินมัคคุเทศก์ที่นำนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศไปยืนถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกกับสุสานหรือฮ้วงซุ้ย(จำลอง)ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แล้วชี้นิ้วไปที่มัสยิดกรือเซะพร้อมบรรยายด้วยถ้อยคำหรือวลีที่ว่า “มัสยิดหลังนี้แหละที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่ง จนฟ้าผ่าและสร้างไม่เสร็จ และเมื่อมีชาวมุสลิมคิดบูรณะมัสยิดหลังนี้ครั้งใด ก็จะโดนฟ้าผ่าเสียทุกครั้ง ซึ่งมัสยิดหลังนี้โดนฟ้าผ่าทุกๆ ครั้งที่มีการบูรณะกล่าวกันว่า มัสยิดหลังนี้โดนฟ้าผ่าถึง 3 ครั้ง 3 ครา จนมุสลิมแถวนี้หวาดกลัวต่ออิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ และไม่กล้าที่จะคิดบูรณะมัสยิดแห่งนี้อีกเลย”

ยังมีความจริงอีกมากมายที่ยังไม่ได้เขียนถึง และยังมีละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ยังไม่เปิดเผย สำหรับบทความชิ้นนี้หากข้อดีอยู่บ้างก็ขอมอบความดีงามอันนั้นแด่ รศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หากสิ่งใดที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีหรือมีผลกระทบผู้เขียนบทความข้อรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและยังมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะกราบเรียนรัฐบาลทักษิณผ่านหน่วยข่าวกรองทั้งหลายที่ชอบตัดข่าวหนังสือพิมพ์ส่งไปให้หน่วยเหนือเป็นอาชีพว่า ในโลกนี้นอกจากประเทศไทยมีประเทศไหนบ้างที่ขึ้นทะเบียนมัสยิดเป็นโบราณสถาน แล้วห้ามศาสนิกชนที่นับถือศาสนาอิสลามบูรณะ แต่ขอร้องว่าอย่าได้อ้างมัสยิดบาบาหรีที่อินเดีย ที่โดนชาวฮินดูรื้อและทุบทิ้งเพื่อเป็นโบสถ์พระรามขึ้นมาทดแทน

 

 

สิ่งอำนวยความสะดวก :
 

 

วันเปิดทำการ :  เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 18.00
 

 

เดินทางอย่างไร :

 

ระยะทางจากตัวเมืองปัตตานีไปยังมัสยิดกรือเซะ บนเส้นทางถนนเพชรเกษม สายปัตตานี - นราธิวาส ประมาณ ๘ กิโลเมตร


--------------------
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.klongdigital.com/webboard3/38587.html

 

 

 

แผนที่ : 
 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com