ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
ศิลปะหัตถกรรม
เครื่องสำอาง
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
สถานีตำรวจ
โรงพยาบาล
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

วัดมุจลินทวาปีวิหาร
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี -โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาลอำเภอหนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. 2388 เดิมมีชื่อว่า "วัดตุยง" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดมุจลินทวาปีวิหาร" ปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม จุดเด่นของวัด คือ วิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ซึ่งประชาชนที่เคยได้ยินคุณความดีของหลวงพ่อ ต่างเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการสักการะบูชาอยู่เสมอ


ประวัติความเป็นมา
          
วัดมุจลินทวาปีวิหาร  เป็นพระอารามหลวง ชนิดสามัญ พระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก เป็นผู้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ โดยเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) ได้อพยพผู้คนมาตั้งเมืองหนองจิกใหม่ ณ  บริเวณตำบลตุยง  ที่ตั้งอำเภอหนองจิกในปัจจุบัน เมื่อสร้างที่ว่าการเมิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านและพระอาจารย์พรหม ธมมสโร  ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านได้ตระเวณเลือกชัยภูมิเพื่อสร้างวัด เล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัด  ได้เห็นเสือตัวใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เลยถือเป็นนิมิตรมงคล เลือกสถานที่แห่งนั้นเป็นที่สร้างวัด มีชื่อเรียกว่า "วัดตุยง" ตามนามหมู่บ้าน
         
เมื่อ   พ.ศ.   ๒๔๓๓   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนพสกนิกรหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิกเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ซ. ๒๔๓๓ วัดตุยงเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยนั้น แต่พระอุโบสถและเสนาสนะยังทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นเงินจำนวน  ๘๐ ชั่ง มอบให้พระยามุจลินทร์สราภิธานนัคโรปการสุนทรกิจมหิศราชภักดี (ทัด  ณ  สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิกไปดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดมุจลินทวาปี-วิหาร"  เพื่อให้สอดคล้องกับนามเมืองหนองจิก (มุจลินท หมายถึง ไม้จิก, วาปี หมายถึง หนองน้ำ) และได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์แก่วัดมุจลินทรวาปีวิหารด้วย

          
พระยามุจลินทรฯ  ได้มอบหมายให้หลวงจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย) หัวหน้าชาวจีนเมืองตานีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และให้นายอินแก้ว รัตนศรีสุข เป็นนายช่าง เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเดียวกัน มีผู้ร่วมพระราชกุศลสมทบรวมกับพระราชทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานไว้  เป็นเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๒๔๐๕ เหรียญ กับ ๔ อัฐ
         
ในปี  พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ ทราบว่าพระอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหารยังไม่มีพระประธาน    ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย  สมัยเชียงแสน  หน้าตักกว้าง  ๑  เมตร  ๔  นิ้ว  ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูปโบราณ ๑๒๔๘ องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อัญเชิญมาจากสุโขทัยและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพน-วิมลมังคลาราม  มอบให้พระยาเพชราภิบาลนฤเบศรวาปีเขตมุจลินนฤบดินทร์สวามิภักดิ์ เจ้าเมืองหนองจิกนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหาร

          
วัดมุจลินทวาปีวิหาร มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่น่าสนใจ ดังนี้
          
๑. พระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุของสมเด็จพระอรหันต์ ซึ่งพระภิกษุแดง ได้มาจากประเทศพม่า
          
๒. พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระอาจารย์นวล เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓
          
๓. พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระครูพิบูลย์สมณวัตร เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔
          
๔. พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระราชพุทธรังษี  เจ้าอาวาสองค์ที่  ๕  และพระเครื่องพระบูชา  เหรียญมงคล ของเกจิอาจารย์ทั้ง ๓ องค์
          
๕. วิหารยอดหรือมณฑปที่ประดิษฐานพระหล่อโลหะรูปเหมือน ของเจ้าอาวาสทั้ง ๓ องค์ ซึ่งสร้างเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ย่อส่วนมาจากพระที่นั่งไอสวรรค์ทิพย-อาสน์ ในพระราชวังบางปะอิน
          
๖. สถูปบรรจุพระอัฐิ  ของพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม  (เกลี้ยง) ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก และเป็นผู้สร้างวัดมุจลินทวาปีวิหาร

          
วัดมุจลินทวาปีวิหาร  ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกแห่งแรกของมณฑลปัตตานี ทางโลกหรือสายวิชาสามัญ  ได้เปิดโรงเรียนสอนตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษาสมัยนั้นขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘  มีนาคม  ๒๔๔๔  ต่อมาปี  พ.ศ.  ๒๔๔๙  ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนออกมาจากวัด  มาดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  คือ   โรงเรียนบ้านตุยง  (เพชรานุกูล)  ในปัจจุบัน  สายธรรม  เปิดโรงเรียนสอนธรรมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๗๓  ต่อมาปี  พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้เปิดโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นอีก เพื่อสอนแผนกภาษาบาลี ต่อมาวัดได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น เรียกว่า "โมลีธรรมพินิต" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ) และได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมสามัญศึกษาขึ้นชื่อว่า "โรงเรียนมุจลินท์ปริยัติธรรม" สายสามัญศึกษา  สังกัดกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘


ความสำคัญต่อชุมชน
          
วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญมากวัดหนึ่งของจังหวัดปัตตานี  เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธโดยทั่วไป ทางวัดได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมขึ้นทุกปี  และมีพุทธ-บริษัทมาร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก  ประชาชนทั่วไปรู้จักวัดนี้ได้จากอภินิหารของหลวงพ่อดำ ซึ่งทางวัดได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องพระบูชา เหรียญมงคลของหลวงพ่อดำและพระเกจิอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร  เพื่อให้พุทธบริษัทที่เลื่อมใสศรัทธาได้เก็บไว้เคารพบูชาโดยทั่วกัน



ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
          
วัดมุจลินทวาปีวิหาร มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ

         ๑.  พระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ  เป็นเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ แบบลังกา ก่อด้วยอิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙
          ๒. อุโบสถรูปทรงไทย ก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาทรงไทย ๓ ชั้น
          ๓. กุฏิเจ้าอาวาส เป็นกุฏิชั้นเดียว ทรงไทย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
          ๔. มณฑปหรือวิหารยอด เป็นศาลาจตุรมุข ซึ่งจำลองมาจากปราสาทพระราชวังบางปะอิน
          ๕. พระพุทธปฏิมาประธาน   เป็นพระประธานสมัยเชียงแสน   (สิงห์  ๑)  หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  อายุประมาณ ๘๐๐ ปี

 

 

วันเปิดทำการ :  ทุกวัน
 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    สถานที่ตั้ง  เลขที่ ๑๐ หมู่ ๑ ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

 

เดินทางอย่างไร :

 

เดินทางจากจังหวัดปัตตานี  เส้นทาง  ถนนสายปัตตานี  -  โคกโพธิ์  ประมาณ  ๗  กิโลเมตร


-------------------
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก  http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24883.0

 

 

แผนที่ : 

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com