ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ข้อมูลทั่วไป
เส้นทางท่องเที่ยวโดยนักวิจัย
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
สันทนาการและการบันเทิง
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ
การท่องเที่ยวกลางคืน
เส้นทางท่องเที่ยวโดยทัวร์อื่นๆ
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
โรงแรม / ที่พัก
โรงแรม รีสอร์ท และสปา
คอนโด อพาร์ทเม้นต์ และแมนชั่น
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
อาหารและเครื่องดื่ม
ศิลปะหัตถกรรม
เครื่องสำอาง
ธุรกิจขนาดกลาง/ ขนาดย่อม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
สถานีตำรวจ
โรงพยาบาล
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ( Wat Matchimawat or Wat Klang )
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมือง เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา วัดนี้เป็นวัดโบราณอายุประมาณ 400 ปี เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ เพราะกล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบ ทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ ทางทิศใต้

ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า วัดกลาง มาจนถึงทุกวันนี้ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดมัชฌิมาวาส โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อพ.ศ. 2431

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมี พิพิธภัณฑ์ภัทรศิลป เป็นที่จัดเก็บวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และอื่นๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา ภายในอุโบสถของวัดกลาง (สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) มีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพเขียนฝาผนังที่วิจิตรสวยงามแสดงถึงวิถีชีวิตในอดีต ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และใกล้ๆ กันก็คือพิพิธภัณฑ์ภัทรศิลป์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุสำคัญต่างๆ ไว้มากมาย  การเข้าชมภายในอุโบสถและพิพิธภัณฑ์นั้นต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสเสียก่อน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 – 16.00 น.


ประวัติความเป็นมา วัดมัชฌิมาวาส วัดกลาง สงขลา

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 222 หมู่ที่ 11 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 9000 สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๘ งาน ๗๕ ตารางวา ตามเอกสาร โฉนดเลขที่ ๑๙๓๓ เฉพาะที่ธรณีสงฆ์มีอยู่ ๓ แปลง มีเนื้อที่ดังนี้ คือแปลงที่ ๑ มีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา ตามเอกสาร โฉนดเลขที่ ๑๔๓๖ แปลงที่ ๒ มี เนื้อที่ ๘๓ ตารางวา และแปลงที่ ๓ มีเนื้อที่ ๕๐ ตารางวา ปัจจุบันยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดราษฎร์ ผู้สร้างวัดชื่อ นางศรีจันทร์ ชาวบ้านเรียกว่า “วัดยายศรีจันทร์” ภายหลังมีผู้สร้างวัดขึ้นทางทิศเหนือ ๑ วัด (วัดเลียบ) และทางทิศใต้ ๑ วัด (วัดโพธิ์ปฐมาวาส) วัดยายสีจันทร์อยู่กลาง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดกลาง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส) ได้เสด็จมาเมืองสงขลา ทรงเปลี่ยนชื่อวัดกลางเป็น “วัดมัชฌิมาวาส” และเมื่อ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ยกฐานะของวัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อทางราชการว่า “วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร”

ตั้งแต่สร้างวัดมาในสมัยอยุธยาตอนปลายจนปัจจุบันปรากฏว่ามีเจ้าอาวาสและผู้ที่ปฏิสังขรณ์หลายท่านจะขอกล่าวเฉพาะบางท่าน ได้แก่
ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๘ – พ.ศ. ๒๓๔๒) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมสน) ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ เช่น สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญขึ้นใหม่

ในรัชกาลที่ ๒ – ๓ พ.ศ. ๒๓๖๐ – พ.ศ. ๒๓๗๕ พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้สร้างหนังสือผูกลาน คือ พระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๘ ตู้ เจ้าอาวาสชื่อ พระครูรัตนโมลี (รักษ์) (พ.ศ. ๒๓๕๘ – พ.ศ. ๒๓๗๙) เมื่อเมืองสงขลาย้ายจากฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ มาอยู่ฝั่งตะวันออกแล้วผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่พระอุโบสถนี้เป็นประจำปีสืบต่อมา

ในรัชกาลที่ ๓ – ๔ พ.ศ. ๒๓๗๙ – พ.ศ. ๒๓๘๙ เจ้าอาวาสชื่อพระปลัดทองและ พ.ศ. ๒๓๘๙ – พ.ศ. ๒๓๙๔ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (พูน) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ – พ.ศ. ๒๔๐๘ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แบบศิลปะไทยและจีน สร้างศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤๅษี ก่อกำแพงแก้ว วัดด้วยหิน ซุ้มประตูวัดทั้ง ๔ ซุ้ม ทำเป็นรูปทรงพระมหามงกุฎ เป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีกตัญญูกตเวทีสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อท่านเจ้าพระยากำลังก่อสร้างพระอุโบสถแห่งใหม่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ – พ.ศ. ๒๔๐๖ และสมเด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดนี้ด้วย

ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ – พ.ศ. ๒๔๒๖ เจ้าอาวาสชื่อ พระครูรัตนโมลี (มาศ) ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๖ – พ.ศ. ๒๔๓๑ เจ้าอาวาสชื่อ พระครูรัตนโมลี (กิ้มเซ่ง) และใน พ.ศ. ๒๔๓๑ – พ.ศ. ๒๔๓๘ พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับอารธนาจาก พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามาเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองสงขลา พระภัทรธรรมดา ได้พานายเฉย ผู้ซึ่งเรียนหนังสือไทย สำเร็จตามหลักสูตรชั้นต้น ตามนโยบายของรัชกาลที่ ๕ (การศึกษาแผนใหม่ในยุคนั้น) และได้เปิดการสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) การศึกษาจัดรูปการเล่าเรียนศึกษาเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นที่วัดกลาง เมืองสงขลาเป็นครั้งแรก และเป็นแห่งแรกของ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลา เสด็จเยือนวัดและโรงเรียนหนังสือไทย วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตามโครงการแผนการศึกษาที่ทรงจัดขึ้น โดยอาศัยเจ้าคณะเป็นผู้ดำเนินงานในชั้นต้น ได้พระราชทานเงินเลี้ยงสงฆ์ ๓ ชั่ง และเงินฝ่ายใน (เจ้านายผู้หญิงตามเสด็จมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) เข้าเรี่ยไรกันทำถนนในวัด ๔ ชั่ง (เงิน ๔ ชั่ง เป็นมูลฐานให้เกิดมีถนนในวัดดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้)

ในระยะ พ.ศ. ๒๔๓๘ – พ.ศ. ๒๔๕๓ พระครูวิสุทธิโมลี (จันทร์ทอง) เป็นเจ้าอาวาส เกิดฝนตกใหญ่ พายุแรงจัดพัดต้นมะขามล้มตีซุ้มประตูของเก่าหน้าวัดหักพังยับเยิน ท่านเจ้าอาวาสได้ไปเจริญพรขอให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาสร้างให้ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตอบสนองว่าบัดนี้ท่านหมดอำนาจตามระบบเก่า จะทำซุ้มยอดมงกุฎแบบเดิมไม่ได้ จะทำถวายแบบใหม่เป็นซุ้มประตูแบบฝรั่งผสมจีน ดังปรากฏอยู่หน้าวัดในปัจจุบัน ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาวัดมัชฌิมาวาสวรวิหารทรงเห็นหลังคาพระอุโบสถชำรุดมาก รับสั่งให้พระยาสุขุมนัยวินัจกับเจ้าอาวาสร่วมกันซ่อมแซมพระอุโบสถเพื่อรักษาฝีมือการช่างเก่าได้ ซึ่งเวลานั้นก็หาดูได้ยากแล้ว เป็นฝีมือศิลปะชั้นครู พระอุโบสถหลังนี้คงสภาพเดิมอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๓ – พ.ศ. ๒๔๗๒ พระรัตนธัชมุนี (จู อิสรญาโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่พระอโนมคุณมุนี เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ – พ.ศ. ๒๔๗๗ พระครูศาสนภารพินิจ (พลับ) ได้เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ – พ.ศ. ๒๕๒๑ พระเทพวิสุทธิคุณ (เลี่ยม อลีโน) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิเก่า ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้จัดตั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส ขึ้นที่อาคารไม้หลังศาลาฤๅษีดัดตน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพแบบศิลปะเก่าเพื่อรักษาศิลปะโบราณไว้แล้วเสร็จเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาทรงยกช่อฟ้า ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ – พ.ศ. ๒๕๒๔ พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) เป็นเจ้าอาวาส และเมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๘๑ – พ.ศ. ๒๕๒๑) ได้เป็นแม่งานดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะมาโดยตลอด และที่สำคัญที่สุดคือ พระคุณเจ้าเป็นผู้ที่เก็บรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในอำเภอเมือง อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ไว้ได้มากที่สุดแล้วจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงปัจจุบัน พระราชรัชมงคลโกศล (ขาว) เป็นเจ้าอาวาส

วัดมัชฌิมาวาส ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เกี่ยวกับการศึกษาหนังสือไทย สมัยเมื่อรัฐบาลยังไม่จัดการศึกษาประชาบาลเป็นทางการทั่วราชอาณาจักร การเรียนหนังสือไทยเรียกกันว่า หนังสือวัด พวกเด็กที่เข้าไปอยู่เป็นศิษย์ของพระภิกษุรูปใด พระภิกษุรูปนั้นก็สอนให้เป็นการส่วนตัวคือศิษย์ใครใครสอน วิธีนี้ย่อมมีอยู่ทั่วๆ ไปในสมัยนั้น ครั้นต่อมา พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) จากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระภัทรธรรมธาดา ได้เปิดสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) โดยให้เด็กวัดทุกคน (อาจมีเด็กบ้านมาสมทบเรียนด้วย) มาเรียนรวมกันตามแผนการนโยบายการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นครั้งแรกที่การศึกษาแผนใหม่อุบัติขึ้น แต่ภายหลังโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปทำการสอนที่ศาลชำระความ ริมจวนพระยาวิเชียรคีรี (ชม) แล้วก็กลายมาเป็นโรงเรียนมหาวชิราวุธในปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุ
       พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๕ ในตระกูล ณ สงขลา เป็นผู้สร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐ – พ.ศ.๒๔๐๘ เป็นพระอุโบสถทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์หน้าบันพระอุโบสถภายนอกเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ส่วนหน้าบันภายนอกด้านทิศตะวันตกเป็นปูนปั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณพระอุโบสถหลังนี้ มีซุ้มหน้าต่างเป็นรูปมงกฎอยู่ ๒ แถวๆ ละ ๗ ซุ้ม และมีซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกฎอยู่ ด้านๆ ละ ๒ ซุ้ม ภายในพระอุโบสถมีพระประธานทำด้วยหินอ่อนฝีมือช่างจีน กล่าวกันว่าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้ให้แบบสั่งมาจากประเทศจีน พระพักตร์ของพระประธานแสดงลักษณะฝีมือช่างจีนอย่างเห็นได้ชัด พระประธานองค์นี้มีพระเกตุมาลาทำด้วยทองคำ ที่หน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง ส่วนหน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง พระอุโบสถหลังนี้ไม่มีฝ้าเพดานเพราะต้องการแสดงขือไม้ ที่ผนังพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังนี้เขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายนอกพระอุโบสถระหว่างช่วงเสาโดยรอบนั้นมีภาพ จำหลักหินเป็นเรื่องราวฝีมือช่างจีน ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีรูปจำหลักหิน เป็นรูปขุนนางฝ่ายทหาร ๔ คน ในนิยายปรัมปราของจีนเรื่องลิซิบิ้น ดูได้รอบด้าน และทางด้านหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกกมีรูปจำหลักหินเป็นรูปโลกบาลทั้ง ๔ แบบจีน ดูได้รอบด้านต่อมาพระอุโบสถหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก วัดมัชฌิมาวาสวรวิหารจึงได้ดำเนินการซ่อมตามแบบของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทรพระองค์มาประกอบพิธียกช่อฟ้า เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๑๖ และกรมศิลปากรได้ใช้เงินงบประมาณอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗

        พระวิหาร เป็นตึกก่ออิฐถือปูน เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) สร้างทับที่เดิมซึ่งเคยเป็นพระอุโบสถ หน้าบันเป็นไม้จำหลักลวดลายที่สวยงามทางด้านตะวันตกเป็นรูปปัญจวัคคีย์ ด้านตะวันออกสืบไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไร หน้าพระวิหารในกำแพงแก้วมีสิงโตหิน ๑ คู่ ซึ่งเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๘ และบูรณะครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๗๒ – พ.ศ.๒๔๗๗
ศาลาการเปรียญ เดิมเป็นตึกก่ออิฐถือปูนเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ หน้าบัน ๒ ด้าน เป็นไม่แกะสลักสวยงามมากด้านตะวันออกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพาประสูติพระราชโอรสก่อนผนวช ด้านตะวันตกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เสร็จเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นตึกคอนกรีต หลังคาทรงจั่ว หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้น ๒ ด้าน ด้านตะวันออกจำหลักเรื่องพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ด้านตะวันตกจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติตอนเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภัทรศีลสังวร

       พระเจดีย์แบบจีน หรือ ถะ เป็นพระเจดีย์แบบศิลปะจีน ๑ องค์ ๗ ชั้น ย่อมุม ๖ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนิต เจ้าพระยาอินทคีรี ((บุญหุ้ย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ เป็นผู้สร้าง มีอักษรทั้งภาษาไทยและจีนจารึกไว้ที่พระเจดีย์ บอกถึงผู้สร้าง เวลาสร้าง (จุลศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑) ตรงกับปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ความในภาษาไทย) และความในภาษาจีนว่า สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๔ (ค.ศ. ๑๗๙๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๒) ต่อมาชำรุด ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์เสร็จ พ.ศ. ๒๕๑๔

       เสาตะเกียบคู่ของเสาธง ทำด้วยหิน มีอยู่ ๒ แห่ง เสามีลวดลายจำหลักงดงามมาก มีคำจารึกภาษาจีน ความว่า สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๗ (ค.ศ. ๑๘๐๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๕) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ และปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔
 

 

วันเปิดทำการ :  เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดราชการ
 

 

เวลาเปิดทำการ :  เวลา 13.00-16.00 น.
 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    หมู่ 11 ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

    โทร. 0-7431-2534, 0-7432-2745

 

 

เดินทางอย่างไร :

 

หากนำรถส่วนตัวไป ให้เริ่มจากวงเวียนหอนาฬิกาใช้ ถ.รามวิถี จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้า ถ.รามัญ เมื่อถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.ไทรบุรี วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ หากไปรถประจำทาง ให้ขึ้นรถตุ๊กตุ๊กสีแดง


-------------------
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก  http://www.dekguide.com/วัดมัชฌิมาวาส-วัดกลาง-สงขลา/


 

 

แผนที่ : 
 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com