search
ข้อมูล ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
ข้อมูลทั่วไป
เส้นทางท่องเที่ยวโดยนักวิจัย
สถานที่ท่องเที่ยว
ประเภทธรรมชาติ
ประเภทประวัติศาสตร์ และศาสนา
ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี
การท่องเที่ยวโดยชุมชน
สันทนาการและการบันเทิง
การท่องเที่ยวในลักษณะขับรถท่องเที่ยว
เส้นทางท่องเที่ยวโดยทัวร์อื่นๆ
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
โรงแรม / ที่พัก
โรงแรม รีสอร์ท และสปา
ร้านอาหาร
ร้านอาหาร
เบเกอรี่
ธุรกิจขนาดกลาง/ ขนาดย่อม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
สถานีตำรวจ
โรงพยาบาล
บริษัททัวร์
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

จวนของเจ้าเมืองระนอง
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

จวนของเจ้าเมืองระนอง


เป็นจวนของเจ้าเมืองระนองคนแรก คือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือท่านคอซูเจียง เป็นแหล่งโบราณสถานแห่งหนึ่งที่สำคัญของระนอง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เส้นถนนเรืองราษฏร์ ตัดเข้าถนนกิจผดุง ใกล้กับตลาดเช้า หรือชาวบ้านเรียกว่าตลาดสะพานยูง เป็นจวนสมัยเก่าทำจากดินทำให้ไม่ทนทานต่อลมฝน ล้อมรอบด้วยกำแพงหนาใหญ่ เจาะเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ มองจากภายในสามารถเห็นภายนอกได้
เดิมชาวระนองรู้จัก "บ้านค่ายเจ้าเมืองระนอง" หรือจวนเจ้าเมืองระนอง สร้างในสมัย พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) ผู้สร้างคือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) บุตรชายคนที่ 2 เริ่มสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๐ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง  ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราญสถานฉบับทั่วไป เล่มที่ ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๐ ง ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ สิ่งสำคัญคือ
กำแพงและซากอาคาร
จวนเจ้าเมืองและเรือนรับรอง
บ่อน้ำและบ่อพักน้ำร้อน

กำแพงและซากอาคาร ทำด้วยอิฐสอปูนสูงประมาณ ๓.๕ เมตร  ความหนาของกำแพงประมาณ ๕๐เซนติเมตร ฐานทำด้วยหินธรรมชาติสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร และหนาประมาณ ๖๐ เซนติเมตร แนวกำแพงมีความยาวทั้งหมด ๙๕๔ เมตร ปัจจุบันเหลือแนวให้เห็นเพียง ๗๒๒ เมตร มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บริเวณประตูด้านหน้า ยังมีเรือนหอรบขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ พังไปตามกาลเวลา มุมกำแพงด้านทิศเหนือติดกับมุมด้านทิศตะวันออก มีป้อมขนาดเล็กอยู่หนึ่งป้อม และป้อมนี้ในอดีตอาจเป็นที่รักษาการณ์ของยาม เลยจากป้อมไปตามแนวของกำแพงยังมีประตูขนาดเล็กอีก ในตัวของกำแพงนั้นมีช่องมองหรือช่องทำเป็นไว้เป็นระยะๆ ภายในกำแพงของด้านนี้ตลอดแนวจะเห็นซากของอาคารที่ทำเชื่อมติดกับกัวกำแพง ซึ่งซากอาคารต่างๆนี้ เดิมทำเป็นโรงเก็บสินค้า เป็นต้นว่าโรงช้าง โรงม้า โรงต้มกลั่นสุรา โรงต้มฝิ่น และฉางข้าว

จวนเจ้าเมืองและเรือนรับรอง สร้างด้วยอิฐสอปูน โครงบนทำด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ตั้งอยู่ภายในไม่ไกลจากประตูทางเข้ามากนัก เรือนหลังนี้ใช้เป็นเรือนรับรอง เป็นอาคารขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ฐานของอาคารสูงจากระดับพื้นดิน ประมาณ ๑.๒๕ เมตร มีบรรไดทางขึ้นด้านหน้า 3 ทาง ด้านหลัง 1 ทางบันไดทำด้วยหินแข็งขนาดกว้าง ๒๐ เซนติเมตร ความยาวของหินแต่ละแผ่นไม่เท่ากัน ตัวของอาคารแบ่งเป็น ๓ ห้อง มีขนาดเท่ากัน ๒ ห้อง ห้องกลางเป็นห้องเล็ก ความสูงของห้อง ๗ เมตร หนา ๖๐ เซนติเมตร บริเวณด้านข้างอาคารห่างออกไปประมาณ ๕ เมตร มีเรือนของโรงครัว ๑ เรือน

ต่อมาได้สร้างจวนเจ้าเมืองระนองหลังใหม่ อยู่ถัดจากเรือนรับรอง ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงซากเสาและพื้นหิน ซึ่งบุตรหลานรุ่นหลังได้สร้างศาลบรรพบุรุษไว้บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของจวนหลังใหม่เพื่อสักการะบูชา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ ๘ เมษายน ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินได้ประทับ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ทรงพระราชบันทึกไว้ทุกวัน ในพระราชบันทึกนั้น ได้ทรงกล่าวถึงเรือนรับรองสองหลังดังนี้
พระราชบันทึก วันที่ ๑๘ เมษายน ร.ศ.๑๒๘

"เวลาบ่าย ๕ โมงล่วงแล้ว จึงได้ทรงรถเสด็จเยี่ยมเจ้าคุณดำรง(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี คอซิมก็อง) ที่บ้าน บ้านนี้กว้างขวางมีเรือนอยู่ในนั้นหลายหลัง ที่ตึกใหญ่ซึ่งเป็นเรือนเดิม ท่านพระยารัตนเศรษฐี(คออยู่ หงี่ ณ.ระนอง) เดี๋ยวนี้อยู่ ส่วนเจ้าคุณดำรงอยู่ที่เรือนใหม่ข้างตึกใหญ่ เป็นตึก เครื้องไม้ใช้ไม้ระกำ มีห้องหับซุกซิกมาก ที่บ้านนี้เมื่อเจ้าคุณระนองเฒ่า(พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี คอซูเจียง) บิดาเจ้าคุณดำรงมาตั้งอยู่ มีอยู่ด้วยกัน ๑๗ หลังคาเรือนเท่านั้น และอยู่กลางป่า ตึกใหญ่ก็จำได้ว่าได้เห็นครั้งนั้น และยังจำได้ว่า ได้ยินว่าในเรือนนั้นมีของสำคัญอยู่อันหนึ่งคือ "ไม้คาน" ซึ่งเจ้าคุณระนองเฒ่าได้ใช้หาบแร่ดีบุก เมื่อยังหนุ่มๆ อาศัยความอุตสาหะพากเพียรของท่านจึงได้มั่งมี จนมีบุญมากถึงได้เป็นเจ้าเมืองระนอง ท่านจึงเก็บไม้คานนั้นมาปิดทองรักษาไว้เป็นของสำคัญ เพราะเป็นสิ่งซึ่งทำให้ท่านก่อร่างสร้างตัว และตั้งตระกูลได้แน่นแฟ้นในเมืองไทย"
จาก "ตำนานเมืองระนอง" ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๐ กล่าวว่า

"....บ้านพระยาระนอง ก่อกำแพงสูงสัก ๑๐ ศอก กว้างใหญ่เห็นจะสักสามเส้นเศษสี่เส้น..แต่ไม่หันหน้าออกถนนด้วยซินแสว่าหันหน้าเข้าข้างเขาจึงจะดี ที่บนหลังประตูทำเป็นเรือนหลังโต ๆ ขึ้นไปอยู่เป็นหอรบ กำแพงก็เว้นช่องปืนกรุแต่อิฐบางๆ ไว้ ด้วยกลัวเจ็กที่เคยลุกลามขึ้นครั้งก่อน เมื่อมีเหตุการณ์จะได้กระทุ้งออกเป็นช่องปืน ที่กลางบ้านทำตึกหลังหนึ่งใหญ่โตมาก แต่ตัวไม่ได้ขึ้นอยู่ แต่เป็นที่รับแขกและคนไปมาอาศัย ตัวเองอยู่ที่เรือนจากเตี้ย๐ เบียดชิดกันแน่นไปทั้งครัวญาติพี่น้องรวมอยู่ที่แห่งเดียวกันทั้งสิ้น มีโรงไว้สินค้าปลูกริมกำแพงยืดยาว ในบ้านนั้นก็ทำไว้ปลูกมัน ปีหนึ่งได้ ๑,๐๐๐ เหรียญ เป็นอย่างคนหากินแท้..."
บ่อน้ำและบ่อพักน้ำร้อน บ่อน้ำทำไว้เพื่อใช้ภายในบริเวณจวน มี ๗ บ่อ และที่สำคัญคือบ่อพักน้ำร้อน ซึ่งก่อด้วยอิฐเป็นรูปบ่อสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก และมีความลึกประมาณ ๑-๑.๕๐ เมตร มีทางน้ำไหลเข้าอยู่ทางด้านทิศใต้มาจนถึงบ่อพัก และจากบ่อพักมีทางน้ำไหลออกไปนอกกำแพงด้านทิศเหนือ ทางน้ำนี้ก่อด้วยอิฐมีความลึกและกว้างประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร เหตุผลของการทำบ่อพักน้ำร้อนนี้เนื่องจากความเชื่อของคนจีนว่า  บริเวณพื้นที่อยู่อาศัยนั้นเป็นพื้นที่ร้อน จึงต้องทำทางน้ำไหลผ่านพื้นที่เพื่อให้พื้นที่มีความเย็น ตามหลักโหราศาสตร์ของคนจีน และผู้อยู่อาศัยพื้นที่นั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข ซินจู้ (Tablet) ศาลบรรพบุรุษตระกูลณ.ระนอง ป้ายหน้าซินจู้ อ่านว่า "เถาหยัง" มีความหมายว่า "ดวงตะวันอันสูงส่ง" ตัวอักษรมุมล่างซ้าย มีความหมายว่า บ้านหลังนี้มากไปด้วยแก้วแหวนเงินทอง บ้านหลังนี้มากไปด้วยขุนนาง ในจวนเจ้าเมืองระนอง ยังมีประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับเมืองระนอง และของใช้จีนโบราญสมัยก่อนมากมาย นอกจากนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความเก่าแก่ของสิ่งของเครื่องใช้โบราญ อาทิ กล้องสูบยาท่านคอซิมก้อง พวงหรีดเหล็ก ซึ่งพระราชทานโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้รับปรัชญาในการดำรงชีวิตแบบชาวจีน การตั้งตระกูลของชาวจีน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ไกลมาก น่าศึกษา

 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    ติดต่อคุณโกศล ณ ระนอง โทร. 08 1956 0008 

    หรือเทศบาลเมืองระนอง โทร. 0 7781 1433, 0 7781 1161 และ 08 9645 2101

 

 

แผนที่ :