ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
ข้อมูล ตำบลกระหวะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
ข้อมูลทั่วไป
รายชื่อและที่ตั้งมัสยิด
รายชื่อมัสยิด
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
ศิลปะหัตถกรรม
กลุ่มอาชีพ / สินค้า
การคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่ตำบล
 

 

 

 

 

กระด้งไม้ไผ่
 
 
ข้อมูลทั่วไป :

ข้อมูล กระด้งไม้ไผ่
รายละเอียดของข้อมูล กระด้ง หรือ ด้ง ที่นิยมใช้กันอยู่ในภาคใต้มี ๒ อย่าง คือ กระด้งฝัดข้าว และกระด้งมอน กระด้งทั้งสองชนิดนี้สานด้วยไม้ไผ่และหวายสำหรับใช้งานเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำไร่ทำนา กระด้งปักษ์ใต้ทั้งสองชนิดเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากกระด้งภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านรูปแบบและลวดลาย กระด้งฝัดข้าวของภาคใต้มี ๒ ชนิดคือ "กระด้งลายขอ" และ กระด้งบองหยอง" กระด้งลายขอ เป็นกระด้งฝัดข้าวที่มีรูปแบบและลายสานที่ถือว่าเป็นเครื่องจักสานชั้นเยี่ยม ที่ออกแบบรูปร่างและลวดลายประณีตประสานกับการใช้สอยได้เป็นอย่างดี และมีคุณค่าทางความงามด้วย กระด้งลายขอนิยมสานด้วยตอกไม้ไผ่สีสุก เพราะเป็นไม้ไผ่ที่มีเนื้อแข็งและเหนียว
กระด้งลายขอมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ตอกซึ่งจะปล่อยข้อปล้องไม้ไผ่ด้านที่เป็นผิวไว้ โดยไม่ได้ตัดออก ตอกด้านนี้จึงมีลักษณะเป็นขออยู่ตามปล้อง ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่า "กระด้งลายขอ" ตอกที่จะเว้นข้อไว้เป็นขอนี้เส้นหนึ่งจะมีข้อเหลือไว้เพียงข้อเดียว เวลาสานผู้สานจะต้องสานวางจังหวะของตอกพิเศษที่มีข้อเหลือไว้แต่ละเส้นให้อยู่กึ่งกลางของกระด้งและเรียงสลับฟันปลาการเหลือข้อไว้บนตอกเพื่อให้เกิดเป็นลายขอบนกึ่งกลางกระด้งนี้ มิได้ทำขึ้นเพื่อความสวยงามแต่อย่างเดียวหากแต่ต้องการให้เกิดประโยชน์ในการฝัดข้าวได้ดีด้วย กระด้งลายขอนี้จะใช้ฝัดข้าวเปลือกที่ผ่านการซ้อมด้วยมือ หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวพื้นบ้านมาแล้ว แต่ยังมีเปลือกข้าวที่เรียกว่า ขี้ลีบและกาก ปะปนอยู่ จะต้องนำมาฝัดด้วยกระด้งลายขอ ลายขอที่เกิดจากการเว้นข้อไว้บนผิวไม้ไผ่ตามธรรมชาตินี้จะช่วยให้กากข้าวขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการสะดุดกับขอของตอกที่พื้นกระด้งลอยตัวขึ้นบนผิวกระด้ง และจะรวมกันอยู่ตามร่องระหว่างขอตรงกลางกระด้ง จึงฝัดหรือเก็บออกได้ง่าย
นอกเหนือไปจากรูปแบบและโครงสร้างของกระด้งลายขอที่มีลักษณะเฉพาะที่สนองความต้องการ ในการใช้สอยแต่โบราณ ตั้งแต่หลักการสานที่คิดเป็นสูตรด้วยคำที่คล้องจองไว้ว่า "ยกสองข่มห้า เรียกว่า ลายบ้าเอย"ที่เรียกว่า "ลายบ้า" คงเป็นเพราะว่าการสานกระด้งชนิดนี้สานยากนั่นเอง ผู้สานจะต้องเป็นช่างฝีมือดี เมื่อสานเสร็จแล้วแนวทางของเส้นตอกจะต้องเป็นแนวมีระเบียบ และลายของปล้องข้อจะเรียงกันได้จังหวะงดงามอยู่ตามด้านหน้ากระด้งส่วนด้านหลังจะเป็นแนวร่องตอกซึ่งเรียกว่า "ดี"กระด้งลายขอนี้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่นักและนิยมเรียกแนวดีแทนขนาด เช่น กระด้งขนาด๗ ดี หรือ ๙ ดี เป็นต้น กระด้งที่นิยมใช้กันเป็นกระด้งที่มีลายขอถี่หรือละเอียดมากกว่ากระด้งที่มีลายขอห่างๆ กัน
กระด้งฝัดข้าวอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้ คือ "กระด้งลายบองหยอง" กระด้งชนิดนี้สานง่ายกว่ากระด้งลายขอ การสานกระด้งลายบองหยองใช้ตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับกระด้งลายขอ แต่ใช้ตอกเส้นใหญ่กว่าและไม่มีข้อปล้อง เป็นตอกเรียบๆ ธรรมดาผิวหน้ากระด้งจึงเป็นลายเรียบๆ กระด้งชนิดนี้ใช้ฝัดข้าวและเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆเช่นเดียวกัน นอกจากกระด้งทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้วยังมีกระด้งอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "กระด้งมอน" คำว่า "มอน" เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึงกระด้งกลมขนาดใหญ่มีเนื้อที่มากกว่ากระด้งทั่วๆ ไป ลักษณะของกระด้งชนิดต่างๆ ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่ากระด้งของภาคใต้เป็นเครื่องจักสานที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่นชนิดหนึ่ง
นอกจากนี้กระด้งของภาคใต้เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของชาวใต้ที่ยึดถือสืบต่อกันมาแต่โบราณด้วย เช่นห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพหรือเทพธิดาแห่งข้าวไม่พอใจแล้วหนีไปไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญ ทำให้การทำนาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ความเชื่อนี้แม้จะหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมแม่โพสพจึงไม่กระด้งแต่ก็เป็นความเชื่อที่เชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณความเชื่อที่เกี่ยวกับกระด้งอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องเก็บรักษากระด้งไว้ให้ดี ถือว่ากระด้งเป็นของสำคัญต้องเก็บไว้ในที่สูง เช่น ตามชายคา หรือเหนือเตาไฟในครัวเพื่อให้ควันไฟช่วยรักษาเนื้อไม้ไม่ให้มอดหรือแมลงกัดกิน และช่วยให้เส้นตอกแน่น มีสีดำอมแดงดูสวยงามอยู่เสมอ
การที่ชาวบ้านเก็บรักษากระด้งไว้ในที่สูงไม่ให้เด็ก นำไปเล่นนั้น อาจจะมาจากความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นผู้มีพระคุณให้ข้าวเลี้ยงชีวิตมนุษย์ จึงควรเก็บรักษากระด้งฝัดข้าวไว้ให้ดี การเก็บรักษากระด้งนี้นอกจากจะใช้ควันไฟจากการหุงหาอาหารช่วยเคลือบผิวแล้ว บางครั้งจะทำด้วยน้ำมันยางทาขี้ชันผสมรำข้าว ซึ่งจะช่วยให้ใช้ได้นาน ถ้าพิจารณาจากความเชื่อนี้แล้ว จะเห็นว่าเป็นอุบายของคนโบราณที่จะรักษากระด้งไว้ให้คงทน ใช้งานได้นาน เพราะกระด้งสานยากจะต้องใช้ความละเอียดประณีตมาก 
การสานกระด้งลายขอและกระด้งชนิดอื่นๆ ของภาคใต้ยังมีสานกันอยู่บริเวณพื้นที่ราบที่มีการทำไร่ ทำนา และยังมีช่างสานกระด้งลายขอฝีมือดีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักเพราะการสานกระด้งลายขอต้องใช้ความพยายามและต้องมีความละเอียดประณีตใช้เวลามาก อย่างไรก็ตาม กระด้งลายขอ กระด้งลายบองหยอง และกระด้งมอน ของภาคใต้ เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นชัดเจนอย่างหนึ่งของภาคใต้ นอกเหนือไปจากสภาพทางภูมิศาสตร์สภาพการดำรงชีวิต ความเชื่อ ขนบประเพณีและศาสนา ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเครื่องจักสานแล้ว วัตถุดิบท้องถิ่นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เครื่องจักสานมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ต่างไปจากภาคอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้เครื่องจักสานชนิดต่างๆ ของภาคใต้ จะเห็นได้ว่าบางชนิดเป็นเครื่องจักสานที่มีประโยชน์ ในการใช้สอย เช่นเดียวกับเครื่องจักสานภาคอื่น แต่มีรูปแบบ ลวดลาย และใช้วัตถุดิบที่แตกต่างไปจากเครื่องจักสานภาคอื่นๆ มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

 

 

ข้อมูลการติดต่อ :

    นายยา วาโด
    เลขที่ ๕๕/๓ หมู่ที่/หมู่บ้าน ๒
    ตำบล กระหวะ อำเภอ มายอ จังหวัด ปัตตานี


    --------------------
    ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://m-culture.in.th

 

 

 

 

   
หน้าหลัก | ข้อมูล 5 จังหวัดชายแดนใต้ | เส้นทางท่องเที่ยวอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) | เส้นทางท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ | รายงานสรุปแต่ละจังหวัด
 
ผู้รับผิดชอบแผนงานวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยา บุนนาค คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถนนเจริญประดิษฐ์ หมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
มือถือ 081-6980383 โทรศัพท์ +66-73-313-929 Fax+ 66-73-312-232
E-mail Address : saranya.b@psu.ac.th; bsaranya70@hotmail.com
---------------------
Developed and Designed by ME-FI dot com